ม.ล.ชโยทิต เปิดแผนผลักดัน 3 อุตสาหกรรมไทย สร้างเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ขยายจีดีพีโตอีก 6-7%

ม.ล.ชโยทิต เปิดแผนผลักดัน 3 อุตสาหกรรมไทย สร้างเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ขยายจีดีพีโตอีก 6-7%

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องที่ได้รับมอบหมายหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนมกราคา 2565 นั้น คือ นโยบายของรัฐบาล เรื่อง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (12 S-Curve) ที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจของอนาคต ซึ่งใน 12 อุตสาหกรรม มีทั้งส่วนที่ทำได้เองในประเทศ อาทิ การเกษตร แต่ในส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างชาติ ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหลัก เป็นส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีต่างชาติเข้ามา หรือ ไม่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เขามาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ในประเทศได้ ไทยก็อาจจะก้าวตามไม่ทันประเทศคู่แข่ง

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ในช่วงที่มีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เข้ามา ทุกประเทศต่างก็มีการปรับเปลี่ยนโฉมของตนเอง พล.ประยุทธ์ ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า ถ้าจะเดินนโยบายต่อไปในอนาคตนั้น ก็จะเป็นเรื่องของส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพรินท์ การใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนในอนาคต โดยรัฐบาลไทย จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ใช้ชาติชาวเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยผลักดันในอุตสาหกรรมหลัก สามารถพัฒนาหรือเข้ามาลงทุนใหม่ ในประเทศไทยได้อย่างไร

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า โดยอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.อุสาหกรรมด้านเวชภัณฑ์และการแพทย์ 4.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล 5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยยังไม่มีความสามารถที่จะดำเนินด้วยตนเอง ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายในและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และภาคการท่องเที่ยว มารวมกัน ก็จะพบว่ารวมกันแล้ว มีผลกระทบถึง 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

“ดังนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะว่าถ้าไทยไม่สามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ จะทำให้ต้องค่อยตามช่องว่าง ของจีดีพีที่หายไป ซึ่งไม่มีทางตามได้ทัน และประเทศคู่แข่งเองก็ได้ตื่นและตระหนักแล้ว เช่น เวียดนามที่ก้าวหน้าอย่างมาก หรืออินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และมีทรัพยากรสำคัญ อาทิ น้ำมัน แร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของแบตเตอรี่ ของรถอีวี จึงเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ในเรื่องของอุตสาหกรรมรถอีวี” ม.ล.ชโยทิต กล่าว

Advertisement

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า โดยทีมปฏิบัติการเชิงรุก ที่ได้ตั้งมาตั้งแต่ปี 2564 ก็ได้ทำการเข้าพบพูดคุยกับ สถานทูตต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในทวีปยุโรป หรือประเทศสหรัฐอเมริกา และพูดคุยกับหอการค้าต่างประเทศ และบริษัทต่างชาติที่ลงทุนอยู่ในไทยด้วย เพื่อดูว่าหากประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปนั้น ทางต่างชาติและบริษัทต่างๆ มีปัญหาอุปสรรคอะไร ในการที่จะมาลงทุนในไทย ซึ่งคำตอบแรกเลยคือ เรื่อง หลักฐานสำคัญในการขออนุญาตเพื่อเข้าต่างประเทศ หรือ วีซ่า ที่ค่อนข้างยากลำบาก ที่ผ่านมามี วีซ่า ให้ชาวต่างชาติ ให้ระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ทุก 90 วัน ก็ต้องไปรายงานตัว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) รวมถึงการขออนุญาต เพื่อการทำงาน ก็ยากลำบากเช่นกัน

ม.ล.ชโยทิต กล่าวอีกว่า การดึงดูดชาวต่างชาตินั้น ไม่ใช่การแย่งงานคนไทย แต่เพราะธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่กล่าวถึงนี้ ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง และต้องมีผู้ชำนาญการพิเศษ ที่จำเป็นต้องดึงดูดเข้ามาในไทย เพื่อให้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ ดังนั้น มาตรการลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (แอลทีอาร์) จึงเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยให้การต้อนรับกับนักลงทุนและบริษัทต่างชาติ รวมถึงแรงงานฝีมือต่างประเทศ จริงๆ ซึ่งอดีตก็เคยเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายใน ที่ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ 1 ใน 10 อันดับของโลก

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ส่วนที่ต้องการพึ่งพาองค์ความรู้จากต่างประเทศ คือ 3 อุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอกนิกส์ ที่ต้องยกระดับไปสู่สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์ ที่ต้องการการลงทุนที่สอดคล้องกับการลงทุน ดาต้า เซ็นเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความทันสมัยมากขึ้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องมีการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามาลงทุนและพำนักระยะยาวในไทยเพื่อให้มีการเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยประมาณ 4 แสนคน เราต้องการอีก 1 ล้านคนที่จะเข้ามาใช้จ่ายปีละประมาณ 1 ล้านบาทต่อคนช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศได้มากขึ้น ปัจจุบันนโยบายที่เป็นรูปธรรมแล้วคือมาตรการวีซ่าระยะยาว (แอลทีอาร์) ที่ได้สิทธิวีซ่าสูงสุด 10 ปี คาดว่าจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และมีผลทางกฎหมายได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

Advertisement

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า โดยรัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายว่าเมื่อมีการปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และทำงานเชิงรุกในการดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามายังประเทศไทยในระยะยาวจะมีเม็ดเงินลงทุนรอบใหม่ในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลาประมาณ 2 ปีข้างหน้า ที่อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตามแผน หากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นของ จีดีพี จะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 6-7% ต่อปี

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ทั้งนี้เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนใน 3 สาขาที่สำคัญประกอบไปด้วยการลงทุนรถอีวี ประมาณ 3.6-4 แสนล้านบาท การลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 2-4 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนในส่วนของการท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่าที่จะมีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

“สำหรับเรื่องการเมืองในปัจจุบันจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน และมีผลต่อเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่นั้น คิดว่า การเข้ามาทำงานในส่วนนี้ไม่ได้สนใจในการเมือง โดยมองว่าต้องการเดินหน้าทำงานเพื่อประเทศชาติ ซึ่งก็ทำงานของตัวเองให้เต็มที่ จะเลิกหรือ จะเกิดการยุบสภาเมื่อไหร่ ก็ไม่ได้สนใจ แต่ขอเดินหน้าทำงานที่มีให้เต็มที่มากที่สุด” ม.ล.ชโยทิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image