กสทช. ร่วมกับ ศปอส.ตร. บุกยึดอุปกรณ์มือถือเถื่อน 9,195 ชิ้น มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท

กสทช. ร่วมกับ ศปอส.ตร. บุกยึดอุปกรณ์มือถือเถื่อน 9,195 ชิ้น มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ร่วมกับ พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวผลการตรวจค้นและจับกุมบริษัท ดี ดัง จำกัด ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ดำเนินการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมของร้านค้าออนไลน์ หรือร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า บริษัท ดี ดัง จำกัด ได้มีการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมหลากหลายประเภทที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม

Advertisement

ตรวจสอบพบเครื่องวิทยุคมนาคม ดังนี้ 1.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทวิทยุสื่อสาร ตราอักษร BAOFENG แบบ/รุ่น BF-888s 2.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีฟ้า 3.โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีดำ 4.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีขาว 5. IPAD/TABLET ไม่ปรากฏตราอักษร ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ รวมจำนวน 9,195 ชิ้น โดยทั้งหมดเป็นเครื่องฯ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ (Type Approval Test) และไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (เครื่องเถื่อน)

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวของบริษัท ดี ดัง จำกัด เป็นการกระทำความผิด ในข้อหา มี นำเข้า และค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากการตรวจค้นจับกุม ณ สถานที่ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ปรากฏของกลางทั้งหมด 5 รายการ จำนวน 9,195 ชิ้น รวมมูลค่า 15,825,000 บาท

Advertisement

ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้ดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ขาดความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต หรืออะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจำหน่ายหรือใช้งาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมกำหนดไว้ ซึ่งประชาชนผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.nbtc.go.th หรือสอบถามมาที่สำนักงาน กสทช. Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image