ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยครัวเรือนนำเงินออมออกมาใช้ ประคองภาวะข้าวยากหมากแพง

ภาพจาก pixabay

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยครัวเรือนนำเงินออมออกมาใช้ ประคองภาวะข้าวยากหมากแพง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน (ดัชนี KR-ECI) อยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังช่วงปีใหม่จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด แต่ด้วยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้เข้ามากดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

ศูนย์วิจัยฯ ได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น กับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจชี้ว่าหากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนาน จะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้ และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

Advertisement

ในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงาน ที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง/การผลิตและทางตรง ที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐ ยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image