คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ทำไมน้ำมันราคาขึ้นเอาๆ

คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ทำไมน้ำมันราคาขึ้นเอาๆ

คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ทำไมน้ำมันราคาขึ้นเอาๆ

ฉบับนี้ขอพักเรื่องกิจการไฟฟ้าไว้ก่อนนะครับ มาว่าถึงเรื่องร้อนแรงในบ้านเมืองดีกว่า… เรื่องที่ว่าคือเรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นเอาๆ มาตลอดเกือบ 2 ปี กล่าวคือตั้งแต่โลกของเราเข้าสู่ยุค COVID-19 โดยในช่วงแรกๆ คือ ช่วงต้นปี 2563 (2020) ซึ่งในช่วงขณะนั้นราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ลดลงจากกว่าๆ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือเพียงกว่าๆ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือน เม.ย.2563 (…ย้ำนะครับว่าจาก 60 เหลือ 10)

ช่วงนั้น COVID-19 เริ่มโจมตีทั้งโลกแล้ว ทั้งจีน อิตาลี และไทย ซึ่งหลังจากนั้นราคาน้ำมันก็ค่อยๆ ขยับขึ้นเป็นรูปตัววี (V-Shape) แบบเฉียงขวา โดยที่น้ำมันปิดราคาของปี 2563 ที่ประมาณ 45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และในช่วงปี 2564 (2021) ราคาน้ำมันดิบก็ยังเฉียงทแยงขึ้น (เอียงขวา) จนในราคาปิดของปี 2564 กลับมายืนที่ระดับกว่าๆ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถือได้ว่าในปี 2564 มีราคาพีคสูงสุดเกือบ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

Advertisement

คราวนี้พอเห็นสถิติทุกคนก็กลับมาถามว่าเพราะเหตุใดราคาน้ำมันถึงขึ้นเอาๆ คำตอบเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือ “ความสามารถในการผลิต (Supply) เริ่มน้อยกว่าความต้องการ (Demand)” ครับ แต่หากจะมองลึกลงไปน่าจะมี 4 สาเหตุหลักๆ ดังนี้นะครับ

1.เศรษฐกิจในประเทศหลักทั้ง USA, EU และ China รีบาวน์ (Rebound) หลังจากได้รับการกระตุ้น
อย่างมหาศาล ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเริ่มกลับมา … ต้องขอหมายเหตุไว้ด้วยนะครับว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ไม่มีการล็อกดาวน์ และแถมตลาดการบินของสหรัฐอเมริกาไม่ได้โดนจำกัดหรือบังคับปิดล็อกดาวน์เหมือนบางประเทศนะครับ เพราะฉะนั้นความต้องการน้ำมันในสหรัฐไม่ได้ถดถอยเท่าไหร่เลย … ในทางตรงข้ามด้าน Supply นั้นกลับมีอุปสรรคมากมายทีเดียว

2.พายุเฮอริเคน IDA และ Nicholas ได้ทำให้การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโกหยุดพักไปพักใหญ่ รวมทั้งคลังสำรองน้ำมันของสหรัฐก็พิการไปพักนึงเหมือนกัน

Advertisement

3.การประชุม COP26 ทำให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ถ่านหิน แล้วกลับมาใช้ก๊าซ LNG แทน ซึ่งก็ทำให้ราคาก๊าซ LNG ราคาพุ่งขึ้นยิ่งกว่าจรวดเสียอีก ซึ่งสาเหตุจากการประกาศยกเลิกการใช้ถ่านหินนี้เองทำให้ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ลดการผลิตหรือยกเลิกการส่งออกถ่านหิน … ซึ่งก็ทำให้ราคาถ่านหินกลับมาพุ่งกระฉูดอีก!! กลายเป็นว่าแพงหมดทุกอย่าง

4.การเมืองระหว่างประเทศที่มีการทะเลาะกันของมหาอำนาจใหญ่ ทำให้ราคาพลังงานผันผวนหลักๆ มี 2 เวที คือ

4.1 ประเด็นยูเครน และยุโรป : ที่ US ชวน EU (หรือเปล่า?) ทะเลาะกับรัสเซีย ทำให้เสถียรภาพราคาก๊าซธรรมชาติในทวีปยุโรปปั่นป่วน และในเมื่อก๊าซท่อ (piped gas) จากรัสเซียไม่มา ประเทศในยุโรปก็หันไปกว๊านซื้อ LNG มาตุนเอาไว้ ทำให้ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งไทย ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ กับราคาที่พุ่งกระฉูดขนาดนี้

4.2 จีน ทะเลาะ ออสเตรเลีย : จีนถึงขั้นประกาศโต้ตอบออสเตรเลียโดยมีการยกเลิกการนำเข้าถ่านหินและ LNG จาก ออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียนั้น ลดระดับการผลิตซึ่งในเวลาต่อมาเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ Supply ในเอเชียขาดหายไป

วันนี้ขอเกริ่นเรื่อง สาเหตุของการดันราคาน้ำมันขาขึ้นที่ขึ้นเอาๆ ส่วนวิธีแก้ไขนั้นแต่ละประเทศจะมีวิธีที่แตกต่างกัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็มีหลายกลไก แม้ว่ากลไกเหล่านี้ได้เคยถูกนำมาใช้กันหลายต่อหลายครั้งแล้วไม่ว่าจะเป็นการใช้กองทุนน้ำมันฯเข้ามาอุดหนุนราคา หรือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในรูปแบบอื่น (เช่น ก๊าซ NGV, เอทานอล) หรือการใช้กลไกไม้ตาย เช่น การลดภาษี

ส่วนจะใช้ “กลไกอะไร” และ “ช่วงจังหวะตอนไหน” อยู่ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจละครับ

 

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image