ยางพาราพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ไทยแชมป์ส่งออกอันดับ1

ยางพาราพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ไทยแชมป์ส่งออกอันดับ1

ยางพาราพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ไทยแชมป์ส่งออกอันดับ1

หมายเหตุ – นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หนึ่งในผู้เสวนา “โครงการประกันรายได้สินค้า 5 สินค้าเกษตร” โดย กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน
รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญต่อการดูแลอุตสาหกรรมยางพารา ถือเป็นพืชสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

ภาพรวมยางพาราในปี 2565 ชัดเจนมาตั้งแต่ปีก่อน เห็นราคายางพาราปรับขึ้นมาก เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางพาราของโลกเริ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงการขยายกำลังการผลิตสูงขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขดัชนีภาคการผลิตโตขึ้นมาก โดยเฉพาะความต้องการของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้สำคัญของโลกกลับมารีบู๊ต (Reboot) ได้เร็วขึ้น หลังจากประสบปัญหาการระบาดโควิด-19 ส่งผลความต้องการใช้ลดลงในช่วงนั้น ซึ่งทิศทางยางพาราตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ได้คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มมากขึ้น 5-7 แสนตันต่อปี และทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณความต้องการใช้ยางพาราจะมีมากกว่าจำนวนผลผลิตในตลาดรวม ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกในการสนับสนุนให้ราคายางพาราปรับขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะคนมีความต้องการใช้สินค้าที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งยางพาราก็เป็นสินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติจริงๆ รวมถึงการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คุณสมบัติความนิ่ม และความเป็นธรรมชาติของยางพารา จะสามารถตอบสนองความต้องการใช้เหล่านี้ได้

Advertisement

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 3.6% คิดเป็นการส่งออกยางพาราประมาณ 3.7 ล้านตันต่อปี อันดับ 2 เป็นอินโดนีเซีย การส่งออกยางพาราประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี และอันดับ 3 เป็นเวียดนาม การส่งออกยางพาราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี ถือว่าปรับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ถือเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด โดยปี 2565 คาดการณ์ไทยส่งออกยางพาราไปทั่วโลกกว่า 4.218 ล้านตัน บวก 2.03% จากปีก่อน ส่งออก 4.134 ล้านตัน ถือว่าอุตสาหกรรมยางพารา มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 สิ่งต้องเร่งแก้ไขเป็นเรื่องการขาดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำการส่งออกไปต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยลบหลักๆ ที่กระทบกับการส่งออกยางพารา เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาเองได้ รวมถึงปัญหาการปรับขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่ประเทศต้นทางไป รวมถึงแรงงานคนไทยก็กลับภูมิลำเนามากขึ้น นำความรู้และประสบการณ์ที่มีไปพัฒนาริเริ่มการเป็นเกษตรกรพื้นถิ่นมากขึ้น ทำให้แรงงานที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพียงพอต่อความต้องการใช้งานมากน้อยเท่าใด

ขณะที่การบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรชาวสวนยาง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วย โดยจากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน หรือการเกษตรยั่งยืน อาทิ ปลูกทุเรียน โกโก้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจะลดการพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายคือ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อวางแผนการผลิต วางแผนการขาย และวางแผนการจำหน่ายทุกขั้นตอนมากขึ้น เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงได้มากขึ้น

Advertisement

จากตัวเลขประมาณการความต้องการใช้งานยางพารา 5-7 แสนตันของสมาคมประเทศผู้ผลิตยาง ทำให้เราไม่มีความกังวลเลยว่า ผลผลิตจะขายไม่ได้ และตัวยางพาราเองก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการขายไม่ได้ แต่มีปัญหาในเรื่องของการที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมากๆ จะเห็นราคาตกลงบ้าง ขณะนี้หากคาดการณ์ราคายาง มองว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป เนื่องจากยางพาราถือเป็นพืชที่มีอนาคตในด้านเสถียรภาพของราคา โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากข้อมูลการคาดการณ์ความต้องการใช้ยางพารากว่า 5-7 แสนตัน ซึ่งสิ่งที่กังวลและเป็นห่วงอยู่ในส่วนของผู้ผลิตมากกว่า ที่หากบริหารจัดการผลผลิตหรือตัวซัพพลายไม่ดีนั้นจะมีปัญหาเรื่องซัพพลายที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้นอีก โดยทิศทางราคายางพารา หากพิจารณาจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 เทียบกับปี 2565 การแกว่งตัวของราคามีค่อนข้างน้อย ซึ่งถือว่าราคายางพาราเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นเสถียรภาพในแนวบวก ทำให้ราคายางพาราเฉลี่ยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก โดยเฉพาะตัวยางก้นถ้วยที่ราคาดีขึ้น หากเทียบใน 1 ปี ราคาปรับขึ้นประมาณ 10-20%

เมื่อถามถึงโครงการประกันรายได้ยางพารา ต้องแสดงความเสียใจกับพี่น้องชาวสวนยางที่ราคาดีกว่าประกันรายได้ จึงไม่มีการจ่ายชดเชยส่วนต่างหรือจ่ายลดลง อย่างยางพาราก้นถ้วยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะราคายางพาราก้นถ้วยปรับขึ้นมาได้ดีมาก เป็นความเสียใจที่ไม่น่าเสียใจ เพราะราคาผลผลิตปรับตัวขึ้นสูงกว่าราคาการประกัน โดยช่วงการประกันรายได้ยางพาราที่ผ่านมาในปีแรก ปี 2563 ใช้งบประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ใช้งบประมาณ 7 พันล้านบาท ปี 2565 เพิ่งจ่าย 3 ครั้ง และใช้งบ 2 พันกว่าล้าน จากที่ของบประมาณสำหรับโครงการประกันรายได้ยางพาราไว้ 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลเชิงบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจของโครงการประกันรายได้ยางพารา เพราะสร้างเม็ดเงินที่เราจ่ายให้เกษตรกรโดยตรง ทำให้เมื่อเกษตรกรได้รับเงินและนำไปใช้จ่ายต่อ อย่างน้อยเม็ดเงินจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก 5 เท่า ทำให้มีเงินสดเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทแล้ว และพบว่า ความพึงพอใจในการจ่ายประกันรายได้ยางพาราที่เกษตรกรชาวสวนยางประเมินให้ ทำได้กว่า 97% มีความพอใจในการบริการดังกล่าว

เพื่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากโครงการประกันรายได้ของยางพารา รัฐได้ทำโครงการอื่นๆ คู่ขนานไปด้วย อาทิ ชะลอผลผลิตยาง การให้เงินอุดหนุนกับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเสริมสภาพคล่อง และการช่วยภาคการผลิต และผู้ประกอบการ ทั้งไม้ยาง น้ำยางข้น สินเชื่อในการสนับสนุนชาวสวนยางพาราต่างๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ โดยหากไม่มีโครงการประกันรายได้ ตัวยางพาราจะมีผลกระทบมากน้อยเท่าใดนั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวรัฐบาลสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพืชทั้ง 5 ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางพาราที่มีลักษณะไม่เหมือนพืชชนิดอื่น เพราะมีผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้เมื่อผลผลิตออกเยอะ ราคาจะมีการแกว่งตัวลดลงได้บ้าง โครงการนี้ก็เข้ามาเพื่อสร้างความมั่นคงของราคายางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ลดผลกระทบในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก

เมื่อบริหารจัดการปริมาณผลผลิตและปริมาณการใช้งานให้พอดีกัน ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อชะลอการออกผลผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดใหม่ ในช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้ราคายางพาราปรับลดลงค่อนข้างน้อย รวมถึงยางพารามีปัจจัยสนับสนุนเรื่องความต้องการใช้ในภาคการผลิตมากขึ้น อาทิ รถยนต์ที่กำลังผลิตและยอดขายดีมากขึ้นจากนี้ ทำให้ความต้องการใช้ยางรถยนต์สูงขึ้น ส่งผลบวกกับยางพารา เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ และมีปัจจัยบวกเฉพาะกับยางพารา คือ การที่น้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งสินค้าทดแทนจำพวกยางสังเคราะห์ จะเริ่มเห็นโรงงานภาคการผลิตกลับมาใช้ยางพาราแท้มากขึ้น

สำหรับบทบาทของการยางแห่งประเทศไทย ต้องบอกว่าเราเป็นหน่วยงานด้านบริการ ต้องให้บริการพี่น้องชาวสวนยางในทุกภาคสวนให้เต็มที่ อาทิ การให้สวัสดิการทั้งตัวชาวสวนยาง และครอบครัว ซึ่งมีนโยบายในการเพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการของเกษตรกรที่แจ้งพื้นที่การปลูกยางพารา รวมถึงการช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากเรามีเงินกองทุนที่ได้จากการส่งออก จึงนำมาใช้ช่วยเหลือชาวสวนยางได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยต่างๆ สิ่งที่สำคัญมากสุดคือ การร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคเอกชน ในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ของชาวสวนยาง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเรื่องการตลาด เพราะมองว่าเรื่องดังกล่าว ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องพยายามปรับตัวของเกษตรกร และการปล่อยให้ต่างคนต่างทำ อาจไม่สามารถตอบสนองการแข่งขันในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้มากนัก รวมถึงหากเราสามารถร่วมกันทำและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะทำให้โอกาสของเกษตรกรชาวสวนยางไทยมีมากขึ้น นโยบายนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ดี และสร้างเสถียรภาพมากขึ้น

ในปี 2665 การยางฯ ปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น อาทิ การนำข้อมูลขนาดใหญ่
(บิ๊กดาต้า) การบริการแบบครบวงจร (วันสต๊อปเซอร์วิส) และการปรับระบบสงเคราะห์บุตรแทน หรือการขอทุนการศึกษาของบุตร ชาวสวนยางสามารถยื่นคำขอได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาถึงสำนักงาน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายคน และความเสี่ยงในการระบาดโควิด-19 ได้ ซึ่งโควิดก็ถือว่าเข้ามากระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้เพิ่มเติม และใช้เร็วขึ้น

ในส่วนของเกษตรกร ขณะนี้ต้องบอกว่าเก่งขึ้นสูงมาก สามารถใช้สมาร์ทโฟน และดำเนินการต่างๆ บนออนไลน์ได้มากขึ้น อาทิ การเบิกจ่ายต่างๆ ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้มั่นใจว่าเกษตรกรไทยยังมีโอกาสพัฒนาตัวเองและธุรกิจได้อีกมาก โดยเราอยู่ระหว่างศึกษาการใช้บล็อกเชนซื้อขายยางพารา เนื่องจากต้องการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมยางพารา และการทำตลาดการซื้อขายล่วงหน้า การนำสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น ส่วนเรื่องการแปรรูปการนำไปใช้ ขณะนี้ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคีในการสร้างนวัตกรรมของการนำยางพาราไปใช้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มุ่งเน้นการใช้ในด้านสาธารณสุขมากที่สุด เพื่อรองรับการดำเนินชีวิตในอนาคต อาทิ ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการใช้ยางพาราผลิตเป็นตัวเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้อุตสาหกรรมยางพารามั่นคง คือ เทคโนโลยีการแปรรูป เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับยางมากที่สุด โดย ณ วันนี้เราไม่ได้นิ่งนอนใจในการทำตามแผนดำเนินการดังกล่าว แต่การสร้างเทคโนโลยีเพื่อใช้งานยางพาราจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่สิ่งที่ทำได้ทันทีตอนนี้ ก็คือการสนับสนุนการปลูกยางในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีความถูกต้อง และลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยาง

สุดท้ายคือ การร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับการยางแห่งประเทศไทย เชื่อยังเป็นกลไกหลักในการดูแลเกษตรกรให้มีความมั่นคงในคุณภาพชีวิต และการสร้างรายได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image