รายงานหน้า 2 : ชู‘กลุ่มพืชคาร์โบไฮเดรต’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

รายงานหน้า 2 : ชู‘กลุ่มพืชคาร์โบไฮเดรต’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ชู‘กลุ่มพืชคาร์โบไฮเดรต’

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในผู้เสวนา “โครงการประกันรายได้สินค้า 5 สินค้าเกษตร” โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ในวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 สะท้อนความสำคัญของพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

⦁ทิศทางข้าวโพด-มันสำปะหลัง

Advertisement

ปี 2565 สถานการณ์โลกสำหรับกลุ่มพืชคาร์โบไฮเดรตทุกตัวมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากหลายประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง เผชิญโควิดระบาด ส่งผลต่อระบบขนส่ง ฉะนั้นราคาพืชกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ โดยผู้ใช้พืชคาร์โบไฮเดรตเจอสินค้าราคาสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบนำเข้า อย่างข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพดในตลาดชิคาโก กลุ่มพืชในไทยต้องปรับราคาขึ้นตามสถานการณ์โลก ส่งผลดีต่อพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มของข้าวโพดได้รับอานิสงส์โดยตรง ราคาที่เกษตรได้รับกับราคาต้นทุนผลิต ที่เจอปัญหาจากโควิด กระทบต่อราคาขนส่ง ราคาปุ๋ย ที่ปรับขึ้น จึงสมดุลกับราคาเกษตรกรที่ลงทุนไป มันสำปะหลังมีแนวโน้มราคาจะปรับขึ้นได้มากกว่านี้ แต่เกษตรกรไทยเสียที่ได้ผลผลิตต่อไร่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับหลายพื้นที่ในปี 2564 เจอทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม กระทบผลผลิตเสียหาย เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ เกิดจากโรครากเน่า การระบาดของไวรัสใบด่าง ยังไม่สามารถควบคุมจัดการได้อย่างเด็ดขาด

ราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถูกกำหนดซื้อจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นปลายทางของอุตสาหกรรมนี้ เมื่อราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น จะส่งผลต่อการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคสูงขึ้นตาม และการแข่งขันในด้านส่งออก เช่น ไก่ ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทั้งจากข้าวโพด โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ขยับขึ้น 3-5% ขณะเดียวต้องไปดูราคาส่งออกเนื้อไก่สดเป็นอย่างไร แต่ของเราได้เปรียบ ประเด็นที่ 1 ข้าวโพดที่ผลิตในประเทศ มีสารสีส้มในเมล็ดข้าวโพด โดยตัวไซยานินจะไปทำให้เนื้อไก่มีสีชมพู ไข่ไก่มีสีสด
สีแดง เป็นสีธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่ง ในอาหารสุกรก็เหมือนกัน หลายประเทศเขาใช้สารเร่งเนื้อแดง แต่ไทยมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เรื่องของข้าวโพดหัวแข็งที่มีสีส้ม จะช่วยการเสนอราคาที่แข่งขันได้

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จะเป็นตัวกำหนด เขาเป็นผู้รับซื้อสุดท้าย ผู้รวบรวมท้องถิ่นจะรวบรวมจากพี่น้องเกษตรกร เอามาปรับสภาพลดความชื้น การเก็บรักษา เพื่อส่งไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สต๊อกตรงนี้
ที่เกษตรกรออกในช่วงตั้งแต่กันยายน-มกราคม ช่วงนี้เป็นกรอบแคบๆ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่สามารถที่จะเอาสต๊อกตรงนี้ไปเก็บไว้ได้โดยตรง กลไกจะอยู่ที่ 1.อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นผู้กำหนดราคาปลายทาง พ่อค้าคนกลาง ที่รวบรวมเป็นคนกำหนดราคาตามโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ให้ราคามาตามคุณภาพและเกรดสินค้านั้น สุดท้ายแล้วจะไปตกอยู่ที่พี่น้องเกษตรกรจะขายสินค้าเกษตรตามคุณภาพ ตามเปอร์เซ็นต์ความชื้น ที่ได้จากการผลิตเท่านั้นเอง ไม่สามารถที่จะกำหนดราคาเองได้ สมมุติว่าราคาในตลาดโลกปรับลง ราคาในประเทศต้องปรับลดลงด้วย นี่คือกลไก ราคาตลาดโลก และโลจิสติกส์ เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมาก

Advertisement

ในด้านกำลังผลิต ปี 2565 มันสำปะหลังที่เศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าจะมีกว่า 30 ล้านตัน ไม่เกิน 32-33 ล้านตัน แต่คณะสำรวจของสมาคมมันสำปะหลังต่างๆ โรงแป้ง มันเส้น ผู้ส่งออก วิเคราะห์สถานการณ์ดูแล้วมันสำปะหลังในประเทศไทยมีไม่เกิน 29 ล้านตัน จากเดิมเคยผลิตได้ 30 ล้านตัน ปีนี้มีปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ไวรัสใบด่าง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ แต่ความต้องการใช้จริงในการใช้ในอุตสาหกรรมแป้ง ซึ่งเป็น 65% ของการผลิตทั้งหมด ส่วนมันเส้นเราซื้อมาจากต่างประเทศด้วย ความต้องการรวมเป็นหัวมันสด 40 ล้านตัน ยังมีผลผลิตขาดทั้งมันสำปะหลังและข้าวโพด ผลผลิตออกมาต่ำกว่าความต้องการ แต่แทนที่ผลผลิตต่ำกว่าความต้องการราคาจะสูงขึ้น กลับไม่ใช่ ไม่เหมือนสินค้าอื่น แต่รัฐบาลมีกลไกควบคุมการนำเข้า ให้นำเข้าได้เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคมเท่านั้น เพราะเดือนกันยายน-มกราคม ผลผลิตในประเทศจะออก ถ้ามีการนำเข้า จะทำให้ราคาในประเทศต่ำลง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพืชคาร์โบไฮเดรต ยังมีวัตุดิบในการทดแทน เช่น ข้าวในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 เกรด 1.ข้าวหอม 2.ข้าวพื้นนุ่ม 3.ข้าวพื้นแข็ง ที่นำไปเป็นข้าวนึ่งส่งออก โดยข้าวพื้นนุ่มและข้าวพื้นแข็งยังล้นตลาดอยู่ ไทยผลิตได้ประมาณ 40 ล้านตัน แต่กินในประเทศ 10 ล้านตัน อีกส่วนส่งออก และยังเหลือสต๊อก 5-6 ล้านตัน ถ้าราคาภายในประเทศที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับ บางพื้นที่ขายราคาข้าวสดในราคา 6-8 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเอาข้าวพื้นแข็งหรือพื้นนุ่มที่ราคาต่ำ มากะเทาะเปลือกเป็นข้าวกล้อง ไม่มีการขัดใดๆ คุณภาพของข้าวกล้องตัวนี้ ก็พอกับข้าวโพด ดูแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบภายในประเทศมาทดแทนได้ บางส่วนมีราคาต่ำก็เอามาทดแทน ยกตัวอย่างข้าวสาลีที่เคยสั่งเข้ามา ในอัตรา 3 ต่อ 1 โดยซื้อข้าวโพดในประเทศไทย 3 ส่วน ถึงจะอนุญาตนำเข้าข้าวสาลีมาได้ 1 ส่วน เมื่อการนำเข้าข้าวสาลี แม้กระทั่งถูกกว่าข้าวกล้องในประเทศแต่คุณภาพสู้กันไม่ได้ ในประเด็นที่เขาเข้ามา นำไปติดกลุ่มซอฟต์วีท ในประเทศที่มีการผลิตข้าวสาลี เจอหิมะลงก่อนก่อนที่ผลผลิตสุกแก่เต็มที่ เพราะเก็บผลผลิตมาก่อนทำให้คุณภาพไม่ได้ จึงนำซอฟต์วีท (ส่วนของโปรตีนที่สกัดได้จากแป้งสาลี) ส่งมาขายในประเทศไทย จะกดดันราคาพืชคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด

⦁ประโยชน์โครงการประกันรายได้

ภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องราคา รัฐกำหนดกฎเกณฑ์ในการผลิต ที่เกษตรกรดูเรื่องต้นทุนการผลิต ปริมาณผลผลิต แต่รัฐไม่ได้อุ้มทั้งหมด ถ้ามันสำปะหลังรัฐชดเชยแค่ 100 ตัน สมมุติค่าเฉลี่ยเกษตรกรผลิตได้ 3.5 ตัน เกษตรกรมีพื้นที่ 30 ไร่ เพราะฉะนั้นเขาจะดูแลคนที่มีพื้นที่ต่ำๆ เช่น 10 ไร่ 25 ไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ ถ้าเกินกว่านี้รัฐบาลไม่อุ้มให้เพราะเกิน 100 ตัน ข้าวโพด ข้าว ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นการที่รัฐบาลมาอุ้มเป็นการควบคุมราคาไม่ให้ต่ำจนเกินไปจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ แต่ไม่ได้แทรกแซงราคา ราคาที่เกษตรกรได้รับ คือ ราคา ณ ปัจจุบัน ที่เกษตรกรขายภายในประเทศ รัฐซื้อเท่าไหร่จะเป็นค่าเฉลี่ยบ่งบอกทั้งประเทศ ณ ราคาที่เกษตรกรขายในเดือนนั้นๆ

แต่ส่วนต่างที่รัฐบาลจ่าย เอามาคำนวณประกันรายได้ เช่น ราคามันสำปะหลัง 8.50 บาท สมมุติเดือนมกราคมขายได้ 8 บาท รัฐจ่ายส่วนต่าง 0.50 บาท แต่ไม่เกิน 100 ตัน เป็นการพยุงเกษตรกรไม่ให้ได้ราคาต่ำจนเกินไป เป็นกลไกที่ดี ไม่ได้ไปแทรกแซงราคาของตลาด เป็นการพยุงให้พี่น้องเกษตรกรได้รับรายได้ส่วนต่าง เป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา กระเป๋าซ้ายคือราคาที่เกษตรกรขายผลผลิตทั้งหมดให้กับผู้รวบรวมท้องถิ่น หรือขายให้กับบริษัทโดยตรง สมมุติว่าได้มา 7.50 บาท รัฐบาลสำรวจราคาทั่วประเทศแล้วต่ำกว่า
8 บาท ก็ชดเชยไป คือเงินกระเป๋าขวาที่เข้ากับเกษตรกร ตอนนี้ราคาประกันข้าวโพด 8.50 บาท/กก. ส่วนราคาประกันมันสำปะหลัง 2.50 บาท/กก. ที่เชื้อแป้ง 25% ไม่เกิน 100 ตัน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ให้เกษตรกรอยู่ได้ในอาชีพ ถ้ารัฐบาลดูในอนาคตโครงการประกันรายได้มีแต่เงินที่จ่ายออก ไม่มีเงินเข้ามา รัฐบาลต้องหาเงินมาซับซิไดซ์ในเรื่องของอย่างนี้ มันไม่เกิดความยั่งยืน ความยั่งยืนคือการที่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น มีคุณภาพที่แข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น เช่น กรณีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประสบปัญหามากที่สุด ส่งข้าวหอม ข้าวพื้นอ่อน ข้าวพื้นแข็งได้ เราถูกเวียดนามแย่งตลาดการค้า และถูกอินเดียแย่งไปแล้ว เราอยู่อันดับที่ 3 ในการส่งออก ข้าวที่เหลือในประเทศจะทำอย่างไร

ตอนนี้ถามว่าผลผลิตตันต่อตันในข้าวพื้นอ่อน หรือข้าวพื้นนุ่ม เวียดนามขายในราคาต่ำกว่า ตรงนี้ไทยจะเอาอะไรไปสู้ เพราะว่าเวียดนามในกลุ่มที่ปลูกใน 9 ลุ่มน้ำมังกรของเขา เขาอยู่ปากอ่าวที่ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำโขง จะมีระบบชลประทานเต็ม แต่ไทยไม่มี มีแค่ 20% ของตรงนี้เอง ทำให้เกิดปัญหา แต่การที่จะสู้ได้คือการยกระดับคุณภาพและผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรขึ้นมา ต้องเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องคิดในระยะยาว การซับซิไดซ์หรืออุดหนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่งระยะยาวเกินไปไม่ส่งผลดี รัฐบาลจะก่อหนี้ผูกพันในระยะยาว ต้องสร้างในเรื่องของความรู้ความสามารถ ปัจจัยต่างๆ ที่จะเพิ่มผลผลิตยกระดับคุณภาพสินค้า ให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการและการแข่งขันได้ เช่น ข้าวที่ปลอดภัยจากสารเคมีแบบพื้นนุ่มของประเทศไทย ในเวียดนามที่ผลิต เขาไม่มีการันตีแบรนด์ตัวนี้ ถ้าเราขายในราคาเท่ากัน ผู้ที่บริโภคต้องการของที่มีคุณภาพเหนือกว่า เราต้องเร่งแนวนี้ในทุกๆ พืชเพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าในประเทศ และยกระดับในเรื่องของการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เม็ดเงินตรงนี้จะเข้าสู่พี่น้องเกษตรกรโดยตรง และยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย

⦁ปัจจัยกระทบภาคเกษตร

สถานการณ์การเมือง ไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรโดยรวมมากนัก เพราะว่านโยบายต่างๆ ที่ออกมา แม้นโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ออกไปต้องเดินต่อให้เสร็จไม่ว่ารัฐบาลไหนมา หลังโครงการปีนี้เสร็จแล้ว โครงการใหม่ปีต่อไปจากนี้ขึ้นกับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีโครงการอะไรมาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร แต่ผมบอกว่าการที่รัฐบาลจะคิดโครงการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ต้องก่อให้เกิดเสถียรภาพราคาเรื่องของการผลิต การบริหารจัดการ และการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยรวม ถึงจะสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรได้ หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายการค้าจะดีขึ้น วัตถุดิบในประเทศถูกนำมาใช้ให้เกิดคุณภาพสูงสุด มีมาตรฐานการแข่งขันกับตลาดโลกได้ ปัญหาการขนส่ง เรือ ตู้คอนเทนเนอร์ได้รับการแก้ไข ตลาดโลกจะดีขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาดโลก วัตถุดิบบางตัวที่ต้องการ บางตัวที่ขาดราคาสูง บางตัวที่ล้นราคาต่ำ เกษตรกรจะอยู่ได้ต้องอยู่ได้ด้วยการแข่งขัน แล้วใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเพียงพอ ถึงจะสู้ได้ ต้องยกระดับมาตรฐานของคุณภาพของสินค้าของการผลิตนั้นให้ได้ เกษตรกรต้องพัฒนาตัวเองด้วย ถ้าทำอย่างเดียวจะประสบปัญหาด้านวิชาการ องค์ความรู้ ถ้ารัฐช่วยสนับสนุนตรงนี้ จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนกว่า จะได้สินค้า ภาษีอะไรกลับคืนมา จะเกิดประโยชน์

⦁เทคโนโลยี แรงหนุนอนาคต

เกษตรกรของเราเริ่มกลับเป็นเกษตรกร ตอนแรกเป็นคนวัยชรา วัยเกษียณ อยู่บ้าน ลูกหลานไปทำงาน ในกรุงเทพฯหรือในเมือง ตอนนี้มันมีปัญหาโควิด เกษตรกรมือใหม่กลับไปสู่ชนบทมากขึ้น มีองค์ความรู้ ใช้สมาร์ทโฟน เสาะหาข้อมูลเพื่อปรับวิถีในการผลิต ถ้าส่งเสริมแหล่งทุน ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี องค์ความรู้จากงานวิจัยที่อยู่ในหิ้งต่างๆ ออกมาสนับสนุน จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาภาคการเกษตรในอนาคต ที่เปลี่ยนไปตามวิถีโลกใหม่

⦁แนะรัฐเร่งเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

ทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่รัฐบาล กรม กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องของผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรมีการผลิตอย่างยั่งยืน เสนอไปมากมาย การรวมกลุ่มเกษตรกร กลุ่มการผลิต การตลาด การบรรจุภัณฑ์ แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับสภาเกษตร เรื่องการฝึกอบรม หน้าที่หลักอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร แต่กรมไปทำภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย เช่น โครงการประกันรายได้ ภารกิจสภาเกษตรมีขอบข่ายเรื่องเสริมสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องเกษตรกรสู่ความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรามีสภาเกษตรอยู่ในพื้นที่ ระดับตำบล หมู่บ้าน อำเภออยู่แล้ว เห็นปัญหาก็สะท้อนโดยการประชุม เสนอตามกรอบบริบทของเขตที่ผลิตในพืชนั้นๆ รวบรวมและเสนอเรื่องเชิงนโยบายต่อ ครม.

อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์การผลิตในประเทศไม่พอ ในพื้นที่ประเทศไทยผลิตได้ 4.7-4.8 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อยู่ที่ 8.3 ล้านตัน ต้องเพิ่มการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพิ่มรายได้
ให้เกษตรกร ต้องนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไป เราร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยการปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวโพดให้ตอบสนองต่อการผลิต โดยไม่เปลี่ยนระบบเดิม เป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับ PH ดินให้สูงขึ้นตามมาตรฐาน WTO ที่ออกผลวิจัย ถ้าดินเป็นกรดอยู่ที่ 4 การที่ใส่ปุ๋ยลงดินไปเป็น 100 กก. พืชข้าวโพดนำไปใช้ได้ 40% อีก 60% ทิ้ง เกษตรกรไม่รู้ เรามีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรับ PH ขึ้นมาเป็น 5 เกือบถึง 6 ปุ๋ยเคมีที่ใช้จาก 100 กก. สามารถใช้ได้ 80-100 กก. ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราได้เสนอไปที่กรมวิชาการเพื่อให้การรับรอง จะได้เสนอเป็นเชิงนโยบายต่อไป

มันสำปะหลังก็เช่นเดียวกัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3-3.5 ตันต่อไร่ อยู่ในแต่ละภูมิภาคใช้ข้อมูลนี้ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยไปปรับ PH สามารถเพิ่มผลิตได้จริง พอเพิ่มได้การที่จะนำไปประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ ต้องเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปขับเคลื่อน สภาเกษตรไม่มีหน้าที่ไปขับเคลื่อน เพราะงบประมาณมีน้อย ถ้าเพิ่มองค์ความรู้ด้านการผลิตต่อไร่ให้พี่น้องเกษตรกร ถ้าผลิตได้เต็มเป้า ความต้องการมีไม่พอ ใช้ของในประเทศ เกษตรกรมีรายได้ จะมีกำลังการจับจ่ายซื้อ เม็ดเงินสะพัดในประเทศ จะยกระดับจีดีพีประเทศสูงขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image