ลุ้น ลดภาษี-แก้ ‘น้ำมันแพง’ แพคเกจรถอีวี ครม.เคาะวันนี้

ลุ้น ลดภาษี-แก้ ‘น้ำมันแพง’ แพคเกจรถอีวี ครม.เคาะวันนี้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการแพคเกจการดูแลราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะนำเรื่องมาตรการดูแลพลังงานในประเทศเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนในส่วนของภาษีสรรพสามิตก่อนว่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นจะดำเนินการมาตรการดูแลในภาพรวมต่อไป เบื้องต้นมาตรการจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (แพคเกจอีวี) ล่าสุดได้ส่งเรื่องไปที่ประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว ต้องรอที่ประชุม ครม.จะบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเมื่อใด

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้ร่วมหารือถึงแนวทางการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในขณะนี้ หากที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงอัตราการปรับลดภาษีดังกล่าวแล้วจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละประมาณ 1.44 แสนล้านบาท จากการใช้น้ำมันประมาณ 2 พันล้านลิตรต่อเดือน หากปรับลดอัตราภาษีเต็มจำนวนอัตราภาษีที่จัดเก็บจะทำให้กรมสูญเสียรายได้ไปในจำนวนดังกล่าวทั้งหมด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ก็จะมีการพิจารณาแพคเกจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่นกัน เพื่อกระตุ้นการใช้รถอีวีในไทยผ่านการนำเข้าทดลองตลาด พร้อมบังคับให้ลงทุนจริงช่วง 4 ปี (2565-68) สำหรับแพคเกจกระตุ้นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะสนับสนุนรถไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก ให้ส่วนลดแก่ประชาชนเพื่อจูงใจให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น ส่วนลดสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1.8 หมื่นบาท และส่วนลดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์นั่งและกระบะ ตั้งแต่ 7 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1.5 แสนบาท รูปแบบจะให้กับค่ายรถยนต์โดยตรง รวมวงเงินงบประมาณที่ใช้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะใช้งบกลางปี 2565 วงเงิน 3 พันล้านบาท ในการอุดหนุนส่วนลด ส่วนอีก 3.7 หมื่นบาท รัฐบาลจะพิจารณาแหล่งเงินอีกครั้ง ขณะที่ ส่วนที่สอง คือการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ คาดว่าจะเหลือไม่เกิน 2% พร้อมลดอากรขาเข้าอัตรา 40% โดยนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 10% ในปี 2568 และ 30% ปี 2573

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image