กสทช.จัดสาธิตประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม ก่อนเริ่มจริง 21 ก.พ. หวังสร้างรายได้เข้ารัฐกว่า 500 ล้าน

กสทช.จัดสาธิตประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม หวังสร้างรายได้เข้ารัฐกว่า 500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้จัดให้มีการสาธิตการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการประมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประมูล ก่อนการประมูลจริงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 เป็นต้นไป ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ได้เปิดประมูลทั้งหมด 74 คลื่นความถี่ มีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็น ความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่ และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่ โดยมี 30 นิติบุคคลเข้าร่วมการประมูล

ราคาประมูลคลื่นความถี่เริ่มต้นที่ 105,000 บาท และสูงสุดที่ 54.8 ล้านบาท โดยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการประมูลทั้งหมดทั้ง 9 คลื่น เริ่มต้นที่ 36-54 ล้านบาท เช่น คลื่น 106.50 MHz ราคาเริ่มต้น 54.8 ล้านบาท, คลื่น 97.50 MHz ราคาเริ่มต้น 49.8 ล้านบาท, คลื่น 105.50 MHz ราคาเริ่มต้น 49.8 ล้านบาท, ส่วนภาคอื่นๆ เริ่มต้นที่ 105,000-2.6 ล้านบาท โดยการประมูลครั้งนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้รัฐไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

Advertisement

สำหรับขั้นตอนการประมูล มีกำหนดระยะเวลาการประมูล 60 นาทีต่อคลื่นความถี่ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องเสนอราคาแรกภายใน 5 นาทีแรกของการประมูล หากไม่เสนอจะถือว่าไม่ประสงค์ในการเข้าประมูล จะถูกตัดสิทธิ์และริบหลักประกัน

หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาเท่ากัน จะขยายเวลาการประมูลออกไปอีกครั้งละ 5 นาที หากไม่มีการเสนอราคาเพิ่ม จะให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคาเท่ากัน จับสลากเพื่อหาผู้มีสิทธิเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ต่อจากนั้นจะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่

“หลังจากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องแจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เช่น ข้อมูลเสา ระบบสาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการและคำขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล” นายไตรรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image