‘ททท.’ พลิกเกมปั้น ‘ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด’ ปี 64 ทำกำไร 238 ลบ. ตั้งเป้าปี 65 กำไรไม่ต่ำ 200 ลบ.

‘ททท.’ พลิกเกมปั้น ‘ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด’ ปี 64 ทำกำไร 238 ลบ. ตั้งเป้าปี 65 กำไรไม่ต่ำ 200 ลบ.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจฯ ผลประกอบการพลิกมามีกำไรครั้งแรกในรอบ 19 ปี หรือนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2546 อยู่ที่ 238 ล้านบาท ซึ่งได้แบ่งเป็นเงินทุนสำรองประมาณ 10% หรือ 100 ล้านบาท ส่วนอีก 138 ล้านบาทได้ปันผลให้บริษัทแม่ ก็คือททท. โดยในปี 2565 ได้ตั้งเป้าจำหน่ายบัตรบัตรอีลิตการ์ดให้ได้ไม่น้อยกว่า 4,400 ใบ เทียบกับปี 2564 ที่สามารถจำหน่ายได้กว่า 3,280 ใบ ซึ่งปี 2565 ททท.ตั้งเป้ากำไร ประมาณ 200 ล้านบาท หรือไม่แตกต่างจากปี 2564 มากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่ากำไรที่เกิดขึ้นในปี 2564 เป็นเพราะเราสามารถจำหน่ายบัตรสมาชิกได้จำนวนมาก แม้การระบาดโควิด-19 จะยังมีอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองว่าประเทศไทยถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่น่ามาใช้ชีวิตอยู่ หลังจากการระบาดโควิดคลายตัวลง รวมถึงในปี 2564 พบว่าต้นทุนในการให้บริการต่ำลง เนื่องจากปี 2564 การเข้ามาของสมาชิกบัตรอีลิตการ์ดเดินทางเข้าประเทศไทยน้อยลง เพราะอยู่ในช่วงการระบาดโควิด

“แผนการดำเนินงานในปี 2565 คือ การเดินหน้าจำหน่ายบัตรสมาชิกที่มีราคาสูงในระดับ 1-2 ล้านบาทให้ได้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนจากเดิมบัตรที่จำหน่ายได้มากๆ เป็นบัตรราคา 6 แสนบาท ที่ขณะนี้มียอดขายประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิก และทำการปรับภาพลักษณ์บัตรอีลิตการ์ด เพื่อให้สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่มีรายได้สูงและมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงมากขึ้นได้ โดยอนาคตอาจมีการขายบัตรสมาชิกอีลิตการ์ดในราคา 5 ล้านบาทก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การสร้างแรงจูงใจที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกผู้ถือบัตรได้ คือ การสร้างประสบการณ์พิเศษที่มีให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น โดยแรงจูงใจที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ การให้สิทธิประโยชน์วีซ่าในระยะยาว และการใช้บริการโรงแรม สปา สนามกอล์ฟในระดับ 5 ดาวได้ตามที่กำหนดไว้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการในการลงทุนภายใต้โครงการ Flexible Plus Program คาดว่าในปี 2565 จะมีเงินลงทุนขั้นต่ำจากสมาชิก 500 ราย เข้ามาประเทศไทย ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยสมาชิกบัตรอีลิท การ์ด ที่ลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไทย หรือประมาณ 30 ล้านบาท จะได้สิทธิในการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย (Work Permit) 5 ปี จากที่เดิมได้วีซ่า 10 ปี โดยเมื่อมีการลงทุนจะได้รับการเปลี่ยนประเภทวีซ่า จากวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษ (PE Visa) เป็นวีซ่าธุรกิจและการทำงาน (Non-B Visa) ผ่านการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ 3 ประเภท คือ 1. การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 2. การลงทุนในบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัดมหาชน 3. การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ส่วนใหญ่ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฮ่องกง รัสเซีย ฝรั่งเศส อเมริกา สิงคโปร์ เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการติดตามเฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เวลา 24.00 น. พบว่านับตั้งแต่รัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนเพื่อรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบเทสต์ แอนด์ โกอีกครั้ง เริ่มเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ขอไทยแลนด์ พาส สะสมอยู่ที่ 16 วันแรก ระหว่างวันที่ 1-16 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 255,111 คน ได้รับอนุมัติสะสมจากระบบ Thailand Pass Hotel & Swap System (TPHS) จำนวน 247,040 คน เฉพาะผู้ยื่นคำขอไทยแลนด์พาสใหม่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีจำนวน 12,155 คน ได้รับอนุมัติจากระบบ TPHS จำนวน 6,378 คน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image