วงเสวนาค้านควบรวมทรู-ดีแทค ป้องกันผูกขาด เสนอทางออกขายให้เจ้าอื่นดูแลแทน

วงเสวนาค้านควบรวมทรู-ดีแทค ป้องกันผูกขาด เสนอทางออกขายให้เจ้าอื่นดูแลแทน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ “สภาองค์กรของผู้บริโภค”

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า การควบรวมกิจการ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน มีทางเลือกน้อยลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สิทธิในด้านกิจการโทรคมนาคมก็จะลดลงตามไปด้วย โดยทางออกคือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องไม่ให้มีการอนุญาตให้ควบรวม ,ให้ผู้เล่นแบบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) มีเพิ่มขึ้น โดยมีมาตรการส่งเสริมจาก กสทช. ,พร้อมกับเพิ่มการมีจำนวนผู้เล่นมากราย อีกทั้งในปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก เช่น การปล่อยให้มีการส่ง SMS หลอกลวง กู้เงินนอกระบบ การพนัน

Advertisement

 

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู ดีแทค จะเกิดผลกระทบด้านลบ เมื่อมีการควบรวมแล้ว จะมีผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 ราย ซึ่งมีโอกาสว่าจะมีการผูกขาดแน่นอน เพราะผู้บริโภคไม่มีอำนาจในการต้อรองเท่าที่ควร ซึ่งองค์กรกำกับอย่าง กสทช. ที่ต้องเข้ามาดูแล ทั้งนี้มีข้อเสนอคือ 1.ไม่ให้มีการควบรวม หรือให้ขายบริษัทกับรายอื่น พร้อมกับการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดต้นทุน 2.ควบรวมกันได้ แต่มีเงื่อนที่ให้คืนคลื่นความถี่ที่มีการรวมกัน มาจัดประมูลให้กับผู้เล่นรายใหม่ 3.ควบรวมกันได้ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิด MVNO แต่ MVNO ไม่ได้เกิดง่ายและกำกับดูแลยาก ทั้งนี้ควรพิจารณาไม่ให้มีการผูกขาด ไม่ใช้ปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปหาวิธีแก้ไข

 

Advertisement

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมีการเรียก กสทช. ,สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เข้าไปประชุมชี้แจงความคืบหน้าการควบรวมเป็นระยะ โดยคณะกรรมาธิการมีข้อสรุปออกมาว่า รัฐต้องมีอำนาจในการกำกับดูแลกระบวนการการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ต้องมีการพิจารณาข้อดีข้อเสีย การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน อีกทั้งกรณีศึกษาทางสหภาพยุโรป ได้มีเงื่อนไขหลังจากการควบรวมแล้ว เช่นให้กระจายคลื่นความถี่ การแบ่งเสาสัญญาณให้กับผู้เล่นรายใหม่ เพิ่มจำนวนผู้เล่นแบบ MVNO อย่างไรก็ตาม ต้องมีการศึกษาผลระยะยาวสภาพตลาด ภายหลังจากการควบรวม

 

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 2 บริษัทมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน มีการเจรจากัน ก่อนที่จะมีการประกาศการควบรวม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน มองว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องกำกับการะทำที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน กสทช. ต้องวางกระบวนการตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศควบรวม ต้องเรียกขอดูข้อมูล และต้องมีการตั้งที่ปรึกษาอิสระ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image