เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) โดยมีผลมาจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์น อีโคโนมิค คอร์ริดอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (Eastern Economics Corridor Development – EEC) ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปแล้ว คาดว่าจะออกกฎหมายมาใช้ในเร็วๆนี้
นายสมคิดกล่าวว่า ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น อย่าคิดแต่เพียงว่าเป็นท่าเรือส่งออกเท่านั้น อยากให้เป็นแบบทั้งนำเข้าและส่งออกด้วย และอยากให้มีการศึกษา CLMV คือประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง และอยากให้ประเทศไทยเป็นคลัสเตอร์ของเอเชียในภาคอุตสาหกรรม
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงการพัฒนาในเรื่องระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่าในการพัฒนาพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนคือ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางหลวงหมายเลข 322 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 3 (แยกเจ) ทางหลวงหมายเลข 3 แยกสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพราะปัจจุบันมี 2 ช่องทางจราจร ซึ่งมีปริมาณรถยนต์คับคั่งถึง 12,000 คันต่อวัน ซึ่งถนนสายดังกล่าวรองรับได้เพียง 8,000 คันต่อวัน และถนนบางส่วนยังชำรุดเสียหายด้วย โดยเพิ่มช่องการจราจรเป็น 4 ช่องทาง เพื่อรองรับการขยายตัวของสนามบินอู่ตะเภาด้วย นอกจากนี้อยากให้มีการพัฒนาถนนสาย 344 สายชลบุรี-แกลง ตอนอำเภอบ้านบึง เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักในการขนส่งสินค้าไปสู่ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งถนนชำรุดเสียหายมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นอกจากนี้ จ.ชลบุรียังประสบปัญหาภัยแล้ง จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ ปัจจุบันมีเพียงอ่างเก็บน้ำบางพระเท่านั้นที่เป็นแหล่งต้นทุนน้ำ ไม่เพียงพอต่อการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและบริโภค จำเป็นจะต้องมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำอื่น อาทิ อ่างเก็บน้ำประแสร์ คลองชลประทานพานทอง เพื่อเพิ่มให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ได้เน้นในเรื่องของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยมีการใช้วิดิโอในการบรรยาย โดยเน้นให้พื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำ สนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของเอเชีย ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการขนส่ง การพัฒนาเมือง สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกและการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และการท่องเที่ยว โดยมีแผนงานรวมทั้งสิ้น 191 โครงการ ในวงเงิน 609,739.80 ล้านบาท โดยแบ่งระยะการทำงานออกเป็น 3 ระยะใน 15 ปี
โดยระยะสั้น พ.ศ.2559-2560 เร่งรัดโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคม เพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และการบริการด้านสาธารณสุข จัดการสิ่งแวดล้อมเมือง ระยะกลาง พ.ศ. 2561-2563 พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-ระยอง) รถไฟรางคู่มาพัทยา ท่าเรือเฟอร์รี่ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ระยะยาว 2564 เป็นต้นไป พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ต่อเนื่อง พัฒนาระบบรางและระบบน้ำ ให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งระบบ