ส.ภัตตาคารไทย เผยโควิดพันธุ์ใหม่ทำคนตระหนกบ้าง แต่ภาพรวมร้านอาหารยังขายได้ปกติ

สมาคมภัตตาคารไทย เผยโควิดพันธุ์ใหม่ทำคนตระหนกบ้าง แต่ภาพรวมร้านอาหารยังขายได้ปกติ สถานการณ์ดีกว่าปีที่แล้ว อาการไม่แรง-มีวัคซีนช่วย

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า จากกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์ใหม่นั้น อาจทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนกบ้างเล็กน้อย แต่ในภาพรวมของร้านอาหารนั้น ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยทั่วไปก็จะเป็นการรับประทานอาหารในร้านทั่วไป และอาหารเองก็ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น ส่วนยอดขายต้องยอมรับว่ายังไม่เท่าเดิม เพราะการจัดเลี้ยง หรือการออกงานต่างๆ ยังทำไม่ได้ เนื่องจากว่ายังมีมาตรการควบคุมการรวมตัวกันจำนวนมากหลักร้อยคนหลักพันคนอยู่ ทำให้รายได้นั้นยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติเท่าก่อนมีโควิด รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็ต้องเผชิญหน้ากับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบในการทำอาหารที่มีราคาแพงขึ้น ทุนเรื่องราคาแพงงาน และต้นทุนในการรักษาความสะอาดตามมาตรการสาธารณสุข

“แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นต่างจากเมื่อเมษายนปี 2564 เพราะตอนนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามา แต่ในปีนี้ประชาชนก็ได้รับวัคซีนครบเกิน 2 จำนวนมากแล้ว และกำลังหาเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 อยู่ ถึงอาการของโควิดในกลุ่มสายพันธุ์โอมิครอน ไม่มีอาการรุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลต้า แต่ที่ทำให้กังวลคงเป็นเพราะมีการกระจายตัวและติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ส่วนผู้ประกอบการก็พยายามจะสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและเลือกที่จะอุดหนุนร้านนั้นเอง” นางฐนิวรรณกล่าว

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ส่วนเรื่องมาตรการภาครัฐนั้น ปัจจุบันสมาคม ได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประสานโรงพยาบาล กับผู้ประกอบการร้านอาหาร สำหรับจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และ การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) ที่จะทำข้าวกล่องเป็นทางเลือกส่งให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ และช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มในช่วงภาวะที่ไม่ปกติ ส่วน สปสช.จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเงินค่าอาหารให้ เดิมที่จะรวมอยูกับค่ารักษาพยาบาลต่อวัน ซึ่งจะมีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่นาน แต่ตอนนี้ สปสช.ได้ออกแนวทางใหม่แล้ว จะเป็นการเหมาจ่าย ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายเร็วขึ้น เริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้

“หวังว่า การปรับปรุงเกณฑ์การเบิกค่าอาหารให้ผู้ป่วยโควิด ของ สปสช.จะช่วยให้ขั้นตอนการได้รับเงินเร็วขึ้น เพราะผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็เผชิญหน้าหลายปัญหาทั้งต้นทุนวัตถุดิบแพง ทั้งต้นทุนตามการรักษาความสะอาดเรื่องโควิด ทำให้มีความจำเป็นต้องหมุนเงินอย่างมาก ถ้ายังคงเบิกช้าแบบเดิมก็มีความลำบาก ส่วนสปสช.เอง ก็ตอบรับปัญหา และรับข้อเสนอไปปรับตาม ก็ลุ้นว่า 1 มีนาคมนี้จะเป็นอย่างไร” นางฐนิวรรณกล่าว

Advertisement

 

 

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image