สานต่อ‘ประกันรายได้ 5 พืช’ เครื่องมือฟื้น ศก.ไทย-ชุบชีวิตเกษตรกร

สานต่อ‘ประกันรายได้ 5 พืช’ เครื่องมือฟื้น ศก.ไทย-ชุบชีวิตเกษตรกร

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์” ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กเครือมติชน ไลน์มติชน ไลน์ข่าวสด และยูทูบมติชนทีวี โดยมีวงเสวนา หัวข้อ “โครงการประกันรายได้สินค้า 5 สินค้าเกษตร” (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา)

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม
อธิบดีกรมการค้าภายใน

พืชเกษตรคนต้องกินต้องใช้ บางประเทศมีสตางค์แต่ไม่ได้ปลูกเอง ต้องซื้อ ขณะที่ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรคือรากฐานรากเหง้า ต้องรักษาไว้ ซึ่งการประกันรายได้สร้างหลักประกันให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอ อยู่ได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ต้องการแค่นั้น จะมีมาตรการเติมเข้าไป เรียกว่ามาตรการคู่ขนานยกราคาให้สูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ นอกเหนือจากการขายสินค้าเกษตรทั่วไปแล้ว ไทยยังมีไบโอพลาสติก ไบโอเคมีคัล การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นเอทานอล พลาสติกเป็นภาชนะ ข้าวทำเป็นเครื่องสำอาง หลายชนิดพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ ส่งผลดีกับพี่น้องเกษตรกรเอง ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจโดยรวม

Advertisement

สำหรับโครงการประกันรายได้เป็นการจ่ายส่วนต่าง และโอนเข้าบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง เอาเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายไปก่อน แล้วค่อยตั้งเบิกจากรัฐบาล เงินไม่ได้หนีไปไหน ถึงมือเกษตรกรโดยตรง กรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันกำหนดระบบ กำหนดราคา สบายใจได้ ไม่มีเรื่องของการทุจริตเด็ดขาด

ปัจจุบันทิศทางพืช 5 ชนิด ไปได้ดีหมดเลย มีเทคโนโลยีต่อยอดได้อีก เกษตรกรมั่นคงในอาชีพ แต่การประกันรายได้ไม่ได้หยุดแค่นั้น มีมาตรการคู่ขนาน ปัจจุบันทำแล้ว 3 ปี ถ้ามีปีที่ 4 ก็มีมาตรการคู่ขนาน เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน ยกราคาให้สูงที่สุดเพื่อประโยชน์พี่น้องเกษตรกร ยกตัวอย่าง ข้าว มาตรการคู่ขนาน คือ สนับสนุนเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งของตัวเอง อย่าพึ่งเอามาขายหลักดีมานด์ซัพพลายกลไกตลาด ถ้าปริมาณของน้อยราคาก็ขยับขึ้น คนที่ได้ก็คือพี่น้องเกษตรกร ปีที่แล้วเก็บไป 1.8 ล้านตันปีนี้ขยับขึ้นไป 2 ล้านตัน ราคาข้าวหอมมะลิขยับขึ้น อีกอันคือให้สหกรณ์ในพื้นที่เข้มแข็ง ไปช่วยดอกเบี้ยเพื่อให้มีแรงเก็บข้าว รวมทั้งช่วยโรงสี ให้ดอกเบี้ย เพื่อมีแรงไปซื้อข้าว กลไกพวกนี้ช่วยให้ราคาข้าวขยับขึ้น นอกจากนี้ เรื่องของพันธุ์ข้าว ล่าสุดออกใหม่ 6 ตัว ทั้งกลุ่มข้าวหอม ข้าวนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ล้วนเป็นเรื่องนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทยของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่มันสำปะหลัง นโยบายคู่ขนาน คือ ให้ดอกเบี้ย ลานมัน โรงแป้ง ให้เร่งซื้อเอามาเก็บ เก็บไว้ 6 เดือน ราคาก็ขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนเครื่องสับมัน ปีนี้ 650 เครื่อง ปีที่แล้ว 800 เครื่อง เมื่อตากแล้วขายได้กว่า 7 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากขายปกติไม่สับ ราคา 2.50-2.70 บาท ปาล์มน้ำมัน มีเงื่อนไข 1.สต๊อกต้องเกิน 3 แสนตัน 2.ราคาในประเทศต้องสูงกว่าราคาต่างประเทศ และ 3.ต้องส่งเป็นน้ำมันปาล์มดิบเท่านั้น ปีที่แล้วส่งออกทำให้สวนปาล์มได้ราคาสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีมาตรการด้านกฎหมายเข้ามาใช้ เรื่องขออนุญาตขนย้าย จำกัดจุดนำเข้าหรือนำผ่าน ราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาตรการนี้ก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ประกาศการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาให้เกษตรกรรู้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีประกันพืชอื่นๆ หรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณารายสินค้า เพราะมีลักษณะไม่เหมือนกัน อย่างผลไม้เมื่อออกมากต้องกระจายออกนอกพื้นที่แหล่งผลิตให้เร็วที่สุด เพราะเชลฟ์ไลฟ์สั้น บางตัวใช้ลักษณะเกษตรพันธสัญญา กระทรวงพาณิชย์ใช้ว่า “อมก๋อยโมเดล” ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามะเขือเทศ เอาโรงงานซอสมะเขือเทศ โรงงานปลากระป๋องขึ้นไปไปทำสัญญากับเกษตรกรที่อมก๋อย หรือกรณีผักขึ้นราคาไม่นานวงจรสั้น วิธีการจัดการก็แบบหนึ่ง จะมีวิธีบริหารแต่ละชนิด กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลทุกพืชทุกตัว ล่าสุดผลไม้ปีนี้ประกาศ 18 มาตรการ เร่งให้พาณิชย์เป็นเซลส์แมนจังหวัด ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนประเทศ ทุกคนต้องทำงานแข็งขันช่วยกัน เพื่อเกษตรกร

แม้สินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับฤดูกาล ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ แต่กลไกนึงที่กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตลอด คือการประชุม 3 ฝ่าย รัฐ เอกชน เกษตรกร นำไปสู่คณะกรรมการรายสินค้า การทำงานราชการสมัยนี้เดินคนเดียวไม่ได้ เดินซ้ายเดินขวาไม่ฟังภาคเอกชนและเกษตรกรไม่ได้ อย่างโครงการประกันรายได้ หารือ 3 ฝ่าย ตกผลึกเรียบร้อยถึงเข้าคณะกรรมการนโยบาย ขอรับจัดสรรงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกส่วนสำคัญคือ ความโปร่งใส เป็นความตั้งใจที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์พยายามช่วยพี่น้องเกษตรกรมีส่วนร่วม

ส่วนประเด็นเมื่อราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น ในส่วนของผู้บริโภค มีตัวอย่างชัดเจน คือ ปาล์มน้ำมัน โครงสร้างราคาตั้งแต่ผลปาล์ม เป็นน้ำมันปาล์มดิบ เป็นน้ำมันปาล์มขวด ควรเป็นเท่าไหร่ กระทรวงพาณิชย์ทำโครงสร้าง ทุกคนสามารถรับรู้ มีการกำกับใกล้ชิด อย่างราคาผลปาล์มที่แตะสูง 11-12 บาทต่อ กก. ราคาน้ำมันขวดไปไกล กระทรวงพาณิชย์พยายามประคับประคองไม่ให้กระทบผู้บริโภค มีโครงสร้างกำกับดูแล มีการตรวจสอบสต๊อกตลอดเวลา มีมาตรการกฎหมายเรื่องการแจ้งปริมาณ แจ้งสถานที่จัดเก็บ นอกจากนี้ยังเตรียมติดตั้งมิเตอร์น้ำมันปาล์ม เพื่อดูสต๊อกแบบเรียลไทม์ อีกไม่นานจะแล้วเสร็จ กระทรวงพาณิชย์มี พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ ดูแล 3 ขา ประกอบด้วย 1.พี่น้องเกษตรกร ให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด 2.ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการต่อได้ 3.ผู้บริโภค ได้ราคาที่เป็นธรรม ซึ่ง 3 ตัวนี้ขัดแย้งกัน ราคาสินค้าเกษตรสูงผู้บริโภคไม่ชอบ ราคาสินค้าเกษตรสูงกดราคาขายถูกผู้ประกอบการไม่ไหว พืชผลถูกเกษตรกรก็ไม่ชอบ นี่คือความยากในการบริหาร ที่ผ่านมากรมทำได้ดี อย่างราคาน้ำมันปาล์มที่ขึ้นไปสูงแต่ราคาขวดไม่สูงเกินไปกว่าเกณฑ์ ถือว่าอยู่ระดับประชาชนซื้อได้ปริมาณไม่หายไปจากตลาด

สุดท้ายนี้ โครงการไหนเป็นของรัฐบาลต้องเดินหน้าทำต่ออยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ฝากคือ ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรได้กำไร อยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องดูเรื่องของราคา ทำให้เกิดกำไร บริหารจัดการ ลดต้นทุน ผลตอบแทนดีขึ้น พี่น้องเกษตรกรต้องอัพเกรดเป็นผู้จัดการ เปลี่ยนจากฟาร์มเมอร์ เป็นเมเนเจอร์ ขณะนี้เกษตรกรไทยอายุมาก เล่นไอแพดน้อย เข้าถึงข้อมูลน้อย ดังนั้นจะต้องพัฒนาคน ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงเทคโนโลยี ซื้อขายทำตลาดเองได้ เป็นการก้าวไปอีกขั้นในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพการผลิต ต้องทำอย่างจริงจังอย่างมากขึ้น

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ปัจจัยที่ราคายางพาราปรับตัวไปในทิศทางที่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากซัพพลายที่เติบโตไม่ทันดีมานด์ จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคายางพาราก้าวขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่ราคาดีขึ้นเพียงอย่างเดียวแต่ดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ มีการปรับตัวค่อนข้างน้อย ทั้งในส่วนของภาคการผลิตและการแปรรูปขั้นปลาย มีแนวโน้มหรือเทรนด์ที่ดี ประเทศผู้ใช้หลักอย่างจีน สต๊อกยางพาราในประเทศลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกยางพารา 60% นั่นแปลว่า ดีมานด์ความต้องการยังมีอีกมาก นอกจากนี้ เทรนด์น้ำมันแพงยังส่งผลต่อราคายางสังเคราะห์สูงขึ้น ยางพาราจากธรรมชาติราคาถูกกว่า และอีกหลายปัจจัย จึงค่อนข้างมั่นใจว่าแนวโน้มของราคาหรือความต้องการยางพารายังมีอีกมาก โดยเฉพาะปีนี้และปีหน้า

ทั้งนี้ ตัวเลขหรือข้อมูลจะเป็นตัวพิสูจน์ความพึงพอใจได้ดีที่สุด ปีที่ผ่านมา การยางฯปรับลดการใช้เงินสำหรับชดเชยรายได้ให้เกษตรกรสวนยางอย่างเป็นรูปธรรม อย่างปีแรกใช้เงินจำนวนมาก ปีที่ 2 ลดเหลือ 7,000 ล้านบาท ปีนี้ใช้เงินไปเพียง 3,000 ล้านบาท การยางฯไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการประกันรายได้อย่างเดียว ยังมีมาตรการอื่นคู่ขนานไปด้วย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ทำงานคู่กันเป็นอย่างดี ทั้งนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด วันนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 มียอดการผลิตกว่า 4 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกเกือบ 4 ล้านตัน แต่เป็นยางธรรมชาติ ไม่ใช่วัตถุดิบ ปัจจุบันร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ให้ข้อมูลและเทรนด์ของโลกว่าเป็นไปในทิศทางใด เพื่อปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเชิญเกษตรกรสวนยางเข้ามาพัฒนาตัวเอง ทำให้บทบาทของเกษตรกรเปลี่ยนไปสู่ผู้ประกอบการแบบเต็มตัว ทุกวันนี้จะไม่ถามกันแล้วว่า ปลูกยางพาราอย่างไร ใส่ปุ๋ยอย่างไร แต่พูดถึงทิศทางของราคายางพารา รวมถึงขั้นตอนการส่งออกไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ เกษตรกรยังปรับรูปแบบการทำเกษตรเป็นแบบผสมผสาน ปรับเป็นพืชการเกษตรที่กระทรวงพาณิชย์แนะนำ เพราะมีความต้องการของตลาด เช่น ทุเรียน โกโก้ เป็นต้น และมีมาตรการคู่ขนาน อาทิ การวางโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว ทำเกษตรแปลงใหญ่ การรวมกลุ่มเกษตร การยางฯทำโครงการชะลอยาง ควบคู่กันกับการอัดฉีดสภาพคล่องให้เกษตรกรสวนยาง

เวลานี้เทรนด์ที่ต้องดำเนินการคือ การทำเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ปีนี้เทรนด์ยางพารา คือ การทำคาร์บอนเครดิต ยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ทำคาร์บอนเครดิตได้ง่าย สุดท้าย สิ่งที่พยายามผลักดัน คือ การนำดิจิทัลมาปรับใช้ ใช้นำแพลตฟอร์มให้เกิดการซื้อขายออนไลน์ ปรับรูปแบบการขายตลาดล่วงหน้าแบบส่งมอบจริง เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรหากรู้ทิศทางหรืออ่านเทรนด์ได้ ปัจจุบันเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถ รู้เรื่องสต๊อก ขายล่วงหน้ามีการเก็งกำไร บริหารความเสี่ยง

เชื่อว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคตแน่นอน ไม่ใช่แค่ปีนี้ เพราะตัวเลขล่าสุดจากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ มองว่า ซัพพลายยางตั้งแต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อาจจะชอร์ตไปอีกระยะหนึ่ง จึงมีการหารือกัน เพราะมีความเป็นกังวลในเรื่องนี้ โดยพยายามหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ให้มีการบริหารซัพพลายให้ดี โดยมีการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน เราไม่ได้ดูแลเฉพาะเกษตรกรสวนยางเพียงอย่างเดียว ดูแลทั้งซัพพลายเชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการด้วย ต้องบริหารสต๊อกเรื่องนี้ให้ดี

แผนของการยางฯ คือ จะพยายามให้เกษตรกรลดความเสี่ยง ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้ทั้งในพืชรายวัน รายเดือน รายปี และไม้เศรษฐกิจ เพราะยางพารามีลักษณะเด่นกว่าพืชชนิดอื่นคือเป็นพืชอายุยาว หากทำคาร์บอนเครดิตได้ เกษตรกรจะมีรายได้เกิดขึ้นสองทาง ถือว่ายางเป็นพืชที่มีอนาคต

เติมศักดิ์ บุญชื่น
ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา

ภาพรวมพืชเกษตรของประเทศไทยในปี 2565 ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โอกาสของประเทศไทยยังสูง ไทยผลิตข้าวโพด 4.7-4.8 ล้านตันต่อปี ไม่พอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งอยู่ที่ 8.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ข้าวโพดไทยเป็นข้าวโพดหัวแข็งมีเม็ดสีเป็นสีส้ม ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยได้เปรียบกว่าประเทศอื่นที่เป็นข้าวโพดหัวบุบอ่อน เม็ดหัวสีทำให้เนื้อไก่เป็นสีชมพูและไข่จากไก่เป็นสีแดงเข้มธรรมชาติ เนื้อหมูที่บริโภคไม่มีสารเร่งเนื้อแดง ดังนั้น จะเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดเพิ่มความมั่นคงของอุตสาหกรรมข้าวโพดที่เป็นอุตสาหกรรมหลัก ต่อเนื่องกับการส่งออกอุตสาหกรรมไก่ ต้นทางวัตถุดิบต้องมีความปลอดภัย อนาคตจะต้องพัฒนาไปสู่ “กรีน อีโคโนมี” หรืออุตสาหกรรมบีซีจีที่มาแน่

ด้านอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง จะมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกมาก อาทิ การนำแป้งสาลีไปผลิตเป็นอุตสาหกรรมแป้ง ขนมปัง เหมือนประเทศยุโรปเป็นเทรนด์ อุตสาหกรรมแป้งของไทย ต้องสร้างจุดแข็ง ยกระดับเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ทำให้ไทยตีหลายตลาด รวมทั้งสินค้าฮาลาล ประเทศกลุ่มผลิตน้ำมันไม่มีความมั่นคงวัตถุดิบเรื่องอาหาร ไทยต้องยกระดับคุณภาพบุกตลาดนี้

ประเด็นเสถียรภาพด้านราคาและรายได้เกษตรกรนั้น หากพิจารณาพืชข้าวโพด ในอดีตรัฐบาลลดภาษีนำเข้าข้าวสาลี เป็นวิกฤตของข้าวโพด ราคาตก เพราะอุตสาหกรรมข้าวโพดจะนำไปสู่อุตสาหกรรมสัตว์ เมื่อพืชคาร์โบไฮเดรตถูกนำเข้ามาจนล้นปริมาณ ราคาข้าวโพดจึงตกต่ำตั้งแต่ปี 2557 ภาคเกษตรจึงร่วมกันรณรงค์ชะลอการนำเข้าวัตถุดิบอื่นที่เข้ามาทดแทนข้าวโพดสำเร็จในปี 2559-2560 เป็นเรื่องของมาตรการ 3 ต่อ 1 เป็นมาตรการชั่วคราวที่ภาครัฐออกมากำกับการดูแลการนำเข้าวัตถุดิบในพืชคาร์โบไฮเดรต ก่อนจะมีการประกันรายได้ ตรงนี้เป็นมาตรการควบคุมวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพืชคาร์โบไฮเดรต ต้องมีกลไกควบคุมไม่ให้พืชคาร์โบไฮเดรตขาดหรือเกิน

อีกทั้งต้องดูว่าสินค้าข้าวโพดในกลุ่มอาเซียน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย ฤดูกาลการผลิตเดียวกัน ต้นทุนต้องมาดูว่าใครถูกกว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐกำหนดมาตรการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านได้เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นสินค้าไทยออกมากระจุกตัวแน่ ราคาตกไปด้วย ประกอบกับมีโครงการประกันรายได้ สร้างเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ตามกลไกของราคาตลาด ถ้ากลไกของราคาตลาดดี รัฐไม่ต้องซับซิไดซ์ แต่ถ้าราคาตกต้องช่วยเสริม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น อาทิ โครงการเก็บชะลอ ผู้ประกอบการซื้อจากเกษตรกรแล้วเก็บสต๊อกไว้ไม่ให้สินค้าทะลักออกมามาก เป็นกลไกหนึ่งทำให้เสถียรภาพราคาดีขึ้น เรื่องการจัดการข้าวโพด มาตรการ 3 ต่อ 1 เป็นมาตรการเฉพาะ คงจะเดินต่อไปไม่ได้เพราะขัดหลักระเบียบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กำลังดูว่าใช้มาตรการด้านภาษีดีหรือไม่อย่างไร อยู่ระหว่างหารือกันต่อไป เพื่อทำให้สินค้า เกษตรกร และผู้บริโภคอยู่ได้

การที่จะส่งออกต่อสู้ประเทศอื่นที่ผลิตของอย่างเดียวกับเราได้ ต้องยกระดับคุณภาพวัตถุดิบของเราให้อยู่ในมาตรฐานสินค้าที่มีความปลอดภัย ตอบสนองต่อการทำธุรกิจบีซีจี ถึงจะนำเทรนด์นี้ไปสู้กับต่างชาติได้ เนื่องจากวัตถุดิบของเรามีคุณภาพส่งออกอยู่แล้ว

ในส่วนของมันสำปะหลัง ประเทศไทยมีความต้องการอยู่ที่ 40 ล้านตันต่อปี แต่ภาครัฐคำนวณปลูกได้ 30 ล้านตันต่อปี ปีนี้ประสบปัญหาน้ำท่วม เหลือ 28 ล้านตันต่อปี ประกอบกับสถานการณ์โควิด คนต้องการใช้แอลกอฮอล์มาก ทำให้ราคามันสำปะหลังมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ในผลผลิต 30 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการอุตสาหกรรมมันฯ มี 2 ส่วน คือ ความต้องการแป้ง 25-26 ล้านตันและอีก 3 ล้านตัน คือมันเส้น ทำเอทานอล ทำให้ราคายกระดับขึ้นอีก

ทั้งนี้ ถ้าพยายามเสริมเกษตรกรให้มีทางต่อสู้ในอนาคต ภาครัฐควรจะทำนโยบายประกันราคาคู่ขนานไปด้วย ห้ามหยุด เพราะเรื่องประกันรายได้ เป็นจุดชี้ของการบริหารจัดการต้นทุนบวกกำไร อย่าต่ำไปกว่านี้ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ถ้าจะหยุดต้องให้เกษตรกรยืนได้ด้วยขาของเขาเองอย่างยั่งยืน คือ 1.ต้องเพิ่มผลผลิตและเสถียรภาพของราคาให้ได้ 2.ต้องสู้กับต่างชาติให้ได้ ด้วยกลไกเรื่องของบีซีจีบิซิเนส และการยกระดับความปลอดภัยของวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานให้กับเกษตรกรอยู่ได้ด้วยขาของตัวเอง ถึงจะมีความยั่งยืน

ปราโมทย์ เจริญศิลป์
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด ประเทศไทยประสบปัญหาการขนส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ค่าขนส่งสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า เรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เมื่อการส่งออกไม่ดีจึงส่งผลกระทบต่อชาวนา เพราะไทยส่งออกข้าวสาร 50% ของผลผลิตในประเทศต่อปี แต่ไม่ได้รับผลกระทบนัก เพราะมีนโยบายประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวจากรัฐบาลช่วยเหลือ

ที่ผ่านมาชาวนาเผชิญหน้ากับภัยแล้ง บางพื้นที่เจออุทกภัยหรือน้ำท่วม ผลผลิตเสียหายและทำนาข้าวต่อไปไม่ได้ บางพื้นที่ทำนาได้ แต่ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่โชคดีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีโครงการประกันรายได้ ที่ดำเนินการมา 3 ปี มีราคาที่ชัดเจน เมื่อข้าวราคาต่ำกว่าทุนรัฐบาลช่วยชดเชยรายได้ ถึงมือชาวนาโดยตรง ทำให้ชาวนาอยู่รอด และมีกำไร เป็นผลดีต่อชาวนารายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ ผลที่ได้รับจากโครงการประกันรายได้ ชาวนาทั่วประเทศพอใจ ดีใจ ชาวนาได้รับอานิสงส์จากโครงการ ถ้าไม่มีโครงการราคาข้าวคงลดลงเหลือกิโลกรัมละ 5-6 บาท อยู่ไม่ได้

ส่วนอนาคตของราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีโครงการประกันรายได้ต่อไป สมาคมได้เสนอไปแล้วว่าอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะช่วยวางรากฐานให้กับเกษตรกร ได้รู้ทิศทางแล้วว่าข้าวที่เกษตรกรผลิตออกมา จะมีโครงการประกันรายได้รองรับ และเท่าที่สอบถามสมาชิกต่างพอใจ เพราะเงินจากโครงการไม่มีการทุจริต โอนถึงมือเกษตรกร สมมุติว่าข้าวที่มีความชื้น 15% ราคาจะ 8 พันบาทต่อตัน ส่วนข้าวความชื้น 25-30% ราคา 6 พันบาทต่อตัน รัฐบาลช่วยชดเชยให้ตามสัดส่วน เป็นอานิสงส์ที่ชาวนาทุกคนเห็นดีด้วยกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร

เรื่องการพัฒนาคุณภาพข้าวของไทยนั้น อยากจะเสนอว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยยังสร้างผลผลิตได้สูง ขณะเดียวกัน ต้นทุนของการผลิตในประเทศเพิ่มสูงเช่นเดียวกัน ทั้งราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ถือเป็นต้นทุนหลักของชาวนาไทย ได้คุยกับกรมการค้าภายใน และกรมการข้าว ทุกหน่วยงานได้รับปากแล้วว่าจะจัดการให้ ทั้งราคาปุ๋ยและยา รวมถึงราคาน้ำมัน เหล่านี้จะช่วยให้ชาวนาควบคุมต้นทุนได้ในระดับราคา 4.5-5 พันต่อไร่ และเมื่อผลิตได้ผลผลิตสูง ชาวนาจะมีกำไร และอยู่ได้สมาคมอยากให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อไปในระยะยาว เพราะชาวนาชอบโครงการนี้มาก

อย่างไรก็ดี ต่อไปนี้จะมีการจัดพื้นที่การปลูกพันธุ์ข้าว โดยส่วนของภาคอีสานจะเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ส่วนของสมาคมดูแลพื้นที่ภาคกลาง โดยพื้นที่กำแพงเพชรและชัยนาท จะปลูกข้าวพื้นนุ่ม คือ กข79 และ กข81 ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และส่งออก ส่วนอุตรดิตถ์เป็นข้าวพื้นแข็ง หลังจากนี้จะไม่มีการทำนาแบบสะเปะสะปะอีกแล้ว จะแบ่งเป็นพื้นที่ไป และการทำหน้าที่ประสานงานกับโรงสีในพื้นที่ และประสานงานกับส่งออก ว่าต้องการข้าวชนิดไหนที่เป็นความต้องการของต่างประเทศ และสมาชิกของสมาคมจะบริหารจัดการตามความต้องการ ทำให้ชาวนาบางส่วนไม่ต้องพึ่งพาโครงการประกันรายได้ อาทิ ข้าวพื้นนุ่ม กข79 และ กข81 ที่กำแพงเพชรมีปลูก 1.8 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงสี มีการแย่งกันซื้อ ทำให้ชาวนาส่วนนี้สามารถกำหนดราคาข้าวเองได้ ซึ่งทำให้ชาวนาสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

มนัส พุทธรัตน์
ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าเกษตรกรไทยไม่สามารถตั้งราคาสินค้าเกษตรเองได้ เพราะฉะนั้นการที่ราคาปาล์มเพิ่มขึ้นสูง จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ส่วนการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล เป็นตัวชี้วัดว่าเกษตรกรควรมีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี เป็นการสร้างมาตรฐานราคาให้อุตสาหกรรมที่จะมารับซื้อสินค้าเกษตร ตามราคาประกันอยู่ที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ให้ต่ำเกินไปกว่านี้ และรัฐบาลเป็นผู้บริหารจัดการ ต้องมองถึงความสมเหตุสมผล และต้องบริหารจัดการปริมาณผลผลิต ว่ามีสต๊อกเท่าไร หรือควรจะทำการส่งออกหรือไม่ สิ่งนี้คือประโยชน์ของนโยบายของการประกันรายได้ ที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถเอาเปรียบเกษตรกรได้

ปีนี้ ราคาปาล์มสูงขึ้น เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่ผลิตน้ำมันได้เป็นพืชตัวเดียวที่ยังผลิตได้จำนวนมาก เลี้ยงประชากรได้ทั้งโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันทานตะวันน้อยลง จากปัญหาโควิดและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป แต่ปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นที่ยังมีผลผลิตดี รัฐบาลมองว่านี้คือโอกาสของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จึงผลักดันให้เกิดการส่งออก โดยที่ไม่ให้กระทบการบริโภคภายในประเทศ ราคาจึงสูงถึง กก.ละ 12 บาท แต่ตอนนี้ได้ปรับลดลงเหลือ กก.ละ 9-10 บาท สะท้อนว่าเป็นนโยบายและการบริหารจัดการที่ดีอย่างไรก็ตาม เกษตรกรไม่ได้อยากได้การประกันรายได้ตลอดไป ขอแค่รัฐบาลบริหารจัดการได้ดี ราคาจะขึ้นสูงจนเกษตรอยู่ได้เอง ขอให้รัฐช่วยดูแลต้นทุนการผลิต

ราคาปาล์มตกต่ำตั้งแต่ปี 2559 สมาพันธ์ไม่นึกไม่ฝัน ว่าปีที่ผ่านมาราคาทะลุไปถึง กก.ละ 12 บาท สูงสุดในรอบกว่าสิบปี แม้จะช่วงสั้นๆ และราคาลดลงมา แต่ยังอยู่ในระดับราคาดี ไม่ได้ใช้เงินโครงการประกันรายได้ซึ่งเกษตรกรไม่อยากพึ่งพาการประกันรายได้ไปตลอดอยู่แล้ว แต่ถ้าราคาดีโดยการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐก็ช่วยให้เกษตรกรมีกำไร แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากให้มีโครงการประกันรายได้ เพราะว่าโครงการก็ช่วยประกันความเสี่ยงเป็นนโยบายที่ดี และอยากแนะนำว่าไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหน ใครก็ตาม ให้ใส่โครงการนี้ไว้ในนโยบายของรัฐบาลเลย เพราะมีประโยชน์กับเกษตรกรมาก

ทั้งนี้ ปาล์มน้ำมันถือเป็นสินค้าอุตสาหกรรม มีกลไกของอุตสาหกรรมกำหนดราคา มีภาครัฐช่วยบริหารจัดการ การประกันรายได้จะใช้ในการดูแล ไม่ให้อุตสาหกรรมรับซื้อสินค้าราคาต่ำกว่าทุน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นปัญหาให้กับอุตสาหกรรม เมื่อเกษตรกรขาดทุน ไม่มีรายได้ จะไม่มีเงินไปใช้บำรุง ไปดูแลปัจจัยการผลิต และในช่วงที่ราคาต่ำจริงๆ มีโครงการประกันรายได้เข้ามาดูแล ส่วนนี้จะไปใช้เป็นค่าปุ๋ย ค่าบำรุงผลผลิต ดูแลไม่ให้เกิดความเดือดร้อนถึงเรื่องการบริโภค สร้างความสมดุลและเสถียรภาพของราคาปาล์ม

จากที่กระทรวงพาณิยช์และกรมการค้าภายใน ตั้งเป้าส่งออกปาล์มน้ำมัน ปี 2565 ให้ได้ 3 แสนตัน สอดคล้องกับตลาดโลกที่ต้องการน้ำมันปาล์มจำนวนมาก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ไทยมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ 1.3 แสนตัน และภาครัฐเห็นว่าจำนวนที่มีอยู่ส่งออกไปต่างประเทศได้ และได้ราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งออกโดยที่ไม่เดือดร้อนต่อผู้บริโภคในประเทศ และภาครัฐมีความฉลาดคือ ส่งออกปาล์มน้ำมันในช่วงที่ปาล์มกำลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และในช่วงเดือนมีนาคมนี้ จะมีผลผลิตออกมาอีก 1 ล้านตันทะลาย นำมาผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.8 ล้านตัน โดยภาครัฐต้องบริหารจัดการต่อไปให้เหมาะสม

ผู้บริโภคไม่ต้องห่วง แม้จะมีการส่งออกปาล์มน้ำมันไปต่างประเทศ อาจทำให้กังวลว่าราคาน้ำมันปาล์มขวดในประเทศจะแพงขึ้น เพราะหลังจากนี้จะมีผลผลิตปาล์มออกมาในตลาดอีก ขอให้ผู้บริโภคใจเย็นๆ รับรองว่าไม่เดือดร้อนแน่นอน ส่วนนโยบายประกันรายได้นั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็อยากให้ทำต่อ ส่วนพรรคเจ้าของนโยบายจะยอมหรือไม่ ก็ต้องติดตามกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image