คิดเห็นแชร์ : ลงทุนอย่างไร ในช่วงที่หลายประเด็นกดดันตลาดพร้อมกัน

สงครามรัสเซีย/ยูเครน เงินเฟ้อในสหรัฐ และความเข้มงวดของนโยบายการเงินเป็นทุกประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังปวดหัว

ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องใหญ่เหล่านี้เกิดพร้อมกัน แต่สัญญาณการลงทุนก็สับสน จนนักลงทุนหลายท่านไม่แน่ใจว่าควรซื้อ ถือ หรือขาย บนธีมไหน เมื่อไหร่

บางคนอยาก “ล้างพอร์ต” ให้จบๆ แต่ผมเชื่อว่านั่นไม่ใช่คำตอบที่ดี ไม่ต่างกับเรารับรู้ขาดทุนโดยไม่คิดหาทางแก้ไข

แทนที่จะยอมแพ้กับโชคชะตาและความเสี่ยงที่ทับซ้อน ผมเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ หาทางปรับพอร์ต ปรับธีม รับมือกับอนาคตได้

Advertisement

เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ผมนำ 1,678 ETF ในสหรัฐ มาหาความสัมพันธ์ (Correlation) กับผลลัพธ์หลักของตลาด เช่น ดัชนี NASDAQ บอนด์ยีลด์สั้นยาว ราคาทองคำและน้ำมันดิบ จัดได้เป็น 3 Pure themes ETF ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตัวแปรตลาดเพียงประเด็นใดประเด็นเดียว และ 4 multi-theme ETF ที่มีความสัมพันธ์กับประเด็นหลักตั้งแต่สองเรื่องขึ้นไป ทั้งหมดแตกต่างอย่างมีนัย Thematic Investor อย่างเราจึงควรทำความเข้าใจความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผ่านมาของธีมเหล่านี้ก่อน

เรื่องแรก คือ การลงทุนแบบ Pure theme ไม่เวิร์ก ในช่วงที่ตลาดมีหลายประเด็นซ้อนกันอยู่

Advertisement

ธีมเดี่ยวเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ธีมลงทุนนอกสหรัฐ หลบเงินเฟ้อ (2) ธีมการเงิน รับดอกเบี้ยขาขึ้น และ (3) ธีมผู้ผลิตน้ำมัน hedge ความเสี่ยงสงคราม

หลายคนเดาว่ากระจายการลงทุนใน Pure theme จะรอด แต่ไม่ใช่

ทั้ง 3 ธีม มีค่าเฉลี่ย Volatility 260 วัน 16-19% กับผลตอบแทนในช่วงขาดทุนเฉลี่ย -2.5% ถึงบวก 0.1% หมายความว่าความบริสุทธิ์ของธีมแค่ลดความผันผวน แต่ผลตอบแทนจะไม่โดดเด่นในช่วงที่ตลาดมีประเด็นซ้อนกันหลายเรื่อง เพราะธีมเหล่านี้มักถูกประเด็นอื่นกดดัน มากกว่าแรงหนุนที่ประเด็นหลักช่วยได้

Multi-theme ที่ไขว้ประเด็นสำคัญเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่ก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต้องเข้าใจและยอมรับ

ผลตอบแทนดีที่สุด คือ รวมทั้ง 3 ประเด็นเข้าด้วยกันเป็นธีม “อุปกรณ์ขุดน้ำมัน”

ตัวอย่าง ETF ที่น่าสนใจ เช่น VanEck Oil Services (OIH) หรือ iShares U.S. Oil Equipment & Services (IEZ)

โดยเฉลี่ยธีมนี้บวก 14.9% ตั้งแต่ต้นปี แต่จุดอ่อนใหญ่คือความผันผวนสูงกว่า 33% เข้าผิดจังหวะอาจขาดทุนได้ง่ายๆ

ธีมผสมถัดมา คือ เพิ่มน้ำมันรับสงคราม หลบเงินเฟ้อ ลดเทคโนโลยี จะได้ “ธีมพลังงานขั้นกลาง (MLP)” นำโดย ETF ที่เข้าธีมอย่าง Global X MLP (MLPA) และ Global X MLP & Energy Infrastructure (MLPX)

ข้อแตกต่างที่สำคัญจากธีม Oil Services คือ ระดับความผันผวนที่ลดลงเหลือเพียง 21% แลกด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยที่ลดลงเหลือเพียง 9.4% จากต้นปี

ส่วนใครที่ไม่อยากข้องเกี่ยวกับสงคราม สามารถเลือก “ธีมธนาคาร” ลดเทคโนโลยี เพิ่มความสัมพันธ์กับบอนด์ยีลด์รับมือดอกเบี้ยขาขึ้นแทนที่ ETF เช่น iShares U.S. Regional Banks (IAT) หรือ Invesco KBW Bank (KBWB) เหมาะที่จะใช้ตอบโจทย์

อย่างไรก็ดี ธนาคารเป็นกลุ่มที่มี Beta สูง แม้จะลดประเด็นที่ผันผวนที่สุดออก แต่ Volatility จะไม่ลดลงไปได้มากกว่าธีม MLP ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยกลับเหลือเพียง 3.8% จากต้นปี

สุดท้ายคือ ส่วนผสมที่ไม่เวิร์กอย่าง “ธีมเศรษฐกิจเติบโตรอบใหม่” ยีลด์สูง น้ำมันราคาแพง

จุดอ่อนของธีมคือ รับความเสี่ยงเงินเฟ้อมากไป ขณะที่การลงทุนส่วนใหญ่เป็น Emerging Markets และหุ้นขนาดเล็กที่กำลังถูกกดดันจากช่วงเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบกว่า 4.2% ตั้งแต่ต้นปี

โดยสรุป Pure theme และ Multi-theme เหล่านี้บอกเราว่า

1.ในสถานการณ์ที่มีประเด็นสำคัญซ้อนกันหลายอย่าง ลงทุนในสินทรัพย์ที่รับกับหลากหลายเรื่อง ดูจะทำผลงานได้ดีกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเฉพาะ

2.การผสมธีม ไม่ได้อยู่ที่ต้องเลือกธีมที่มีโอกาสดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงธีมที่ลดความเสี่ยงดีที่สุดประกอบไปด้วย

และ 3.การลงทุนที่ผสมทุกประเด็นเข้าด้วยกัน แม้จะมีโอกาสสร้างกำไรสูงสุดก็จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อเข้าใจส่วนผสมของธีมแล้ว คำถามต่อไปคือ ถือต่อหรือขายธีมไหน

สำหรับผม ต่อจากนี้ต้องคาดเดาระยะเวลาของประเด็นที่ซ้อนกันอยู่เสริมเข้าไปในการตัดสินใจ

ยาวที่สุด ผมมองว่าเป็นเรื่อง “เงินเฟ้อ” เพราะประกอบด้วยแรงสนับสนุนทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ธีมลงทุนไหนมีส่วนผสมเรื่องนี้ก็สามารถเลือก “ถือต่อได้”

สั้นลงมาคือ “นโยบายการเงิน” แม้จะเป็นขั้นตอนที่มักเกิดต่อเนื่อง แต่ในจังหวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ผู้กำหนดนโยบายจะมีเรื่องต้องคิดเยอะ โอกาสเปลี่ยนใจก็จะมากตามไปด้วย ใครที่ลงทุนในธีมนี้จึงควรตั้งใจจับสัญญาณจากธนาคารกลางให้ดี

สั้นที่สุด ผมมองว่า คือ “ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์” ในประวัติศาสตร์โลกการเงิน มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประเด็นนี้จะอยู่กับตลาดไปได้ตลอดปี จุดจบมักเกิดขึ้นทันทีที่ตลาดมองเห็นความชัดเจน มาถึงตรงนี้ ผมจึงมองว่าเป็นจังหวะ “ขายทำกำไร” การลงทุนในธีมที่เกี่ยวข้องมากกว่า

ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่า Thematic Investor ทุกท่านไม่ต้องถึงกับล้างพอร์ต และสามารถประเมินได้เองแล้วว่าอยากจะเพิ่ม ถือ หรือลดธีมแบบไหน

ต่อไปนี้ถ้าเราเจอประเด็นที่ซับซ้อนอีก อย่าลืมที่จะ “แยก” เพื่อทำความเข้าใจตลาด และ “ผสม” ให้เป็นธีมที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้พอร์ตลงทุนเราครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์
และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสายพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image