ชี้ทางรอด ศก.ไทย ท่องเที่ยว-การค้า-ส่งออก ฝ่าไฟสงคราม‘รัสเซีย-ยูเครน’

ชี้ทางรอด ศก.ไทย ท่องเที่ยว-การค้า-ส่งออก ฝ่าไฟสงคราม‘รัสเซีย-ยูเครน’

การระบาดโควิด-19 กินเวลามากว่า 2 ปี เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ที่ทุกฝ่ายฟันธงเชื้อไวรัสคงไม่จบลงในเร็ววันนี้ เกือบทั้งโลกยังต้องสู้รบและรับมือการกลายพันธุ์ของโควิด รวมถึงประเทศไทยที่กำลังเผชิญวันนี้ “โอมิครอน” เฉพาะในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.5 หมื่นคนต่อวัน และอยู่ในภาวะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) รายวันอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและช่วงเวลาของการกลับมาฟื้นตัวได้เท่าเดิม เดิมหวังไว้ครึ่งหลังปี 2565 อาจต้องยืดเยื้อไปถึงปี 2566-2567

ภาพความกังวลฉายชัดมากขึ้นอีก และล่าสุด เกิดความเสี่ยงในประเด็นความขัดแย้งด้านรัฐภูมิศาสตร์ หรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ หลังรัสเซียจู่โจมยูเครน ยกระดับจากเดิมหวังเป็นเพียงความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ ภาพซ้อนสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย มาพร้อมกับภาพความรุนแรงของการโจมตีในยูเครน และสงครามช่วงชิงจากนี้ทั้งจากการสู้รบ การโจมตี มาตรการคว่ำบาตรจากพันธมิตร รวมถึงผลกระทบทางตรงและทางออกจากกลุ่มประเทศยุโรป

ซึ่งประเทศไทยหลีกไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ประเด็นหลักคือ ทางออกทางรอดของธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องทำกันอย่างไร!!

⦁ไฟสงครามกระเพื่อม5ด้าน
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซียและยูเครน จะส่งผลกระทบต่อไทยมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะจบเร็วหรือช้า โดยหากจบช้า ผลกระทบกับทั่วโลกคือ กรณีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมาตรการเล่นงานรัสเซีย ได้แก่ 1.จำกัดการส่งออกเทคโนโลยี ทำให้รัสเซียไม่สามารถนำของเหล่านี้มาใช้ในอุตสาหกรรมความมั่นคง ไบโอเทค และการบินได้ 2.รัสเซียไม่สามารถระดมทุนต่างประเทศได้ 3.มีการแซงก์ชั่น (บทลงโทษ) ธนาคารใหญ่ๆ ทำให้การประกอบธุรกิจลำบาก คือ สั่งห้ามสถาบันการเงินสหรัฐ ทำธุรกรรมกับธนาคารใหญ่ของรัสเซีย 4.ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ พุ่งขึ้น และ 5.ต้นทุนวัตถุดิบเฉพาะปรับเพิ่มขึ้น คือ ข้าวสาลี เนื่องจากยูเครนและรัสเซียส่งออกข้าวสาลี 30% ของโลก รวมถึงข้าวบาร์เลย์ด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับแพงขึ้น ดันให้ภาวะเงินเฟ้อขยายตัวเร็วและมากขึ้น โดยความกังวลจะมากขึ้น หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมาถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 91 เหรียญต่อบาร์เรล แม้ตอนนี้ไม่ได้มองว่าจะไปถึงขนาดนั้น แต่หากเกิดขึ้นจริง จะดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 2% ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจโลก ที่จะขยายตัวได้ช้าลง

Advertisement

“กำลังซื้อจะถูกกระทบในแง่ลบ ทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก แม้ยังบวกอยู่ แต่จะช้าและน้อยลง ส่งผลต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทยที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นเท่าที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลต่อภาคการส่งออกไทย คนพยายามอุปโภคและบริโภคลดลง เพราะความเสี่ยงยังอยู่ ทำให้การขายของลดลง แม้คิดว่าปี 2565 การส่งออกจะยังเป็นบวกอยู่ แต่อาจไม่ได้บวกดีเท่าที่คาดไว้ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่เดิมมองว่าตลาดต่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศแถบยุโรป จะทำให้คนไม่อยากออกเดินทาง เพราะบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ภาคการท่องเที่ยวที่มองว่าน่าจะฟื้นตัวได้ ก็อาจไม่ได้เป็นไปตามคาดแล้ว” นายสมชายกล่าว

⦁เร่งรัฐเตรียมรับวิกฤตของแพง
นักวิชาการท่านนี้กล่าวอีกว่า ทางออกที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงาน ที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนทุกด้าน ทั้งภาคการผลิต การบริการ ซึ่งจะดันให้ข้าวของแพงขึ้นอีกโดยจะต้องดูแลและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว แม้มองว่าหากไม่ยืดเยื้อทุกอย่างจะเป็นเรื่องผลกระทบชั่วคราว แต่รัฐบาลควรต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้พ่อค้าคนกลาง หรือผู้ประกอบการตักตวงผลประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เหมือนช่วงที่เนื้อหมูแพงมากๆ ก็เป็นโอกาสฉกฉวยในการกักตุนสินค้า เพื่อทำกำไรมากขึ้น ส่วนในระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลควรทำเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะส่งผลกระทบกับไทยทางอ้อมเป็นหลัก ซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในยุโรป

⦁นทท.‘รัสเซีย-ยูเครน’เป็น0%
ภาคการท่องเที่ยว ที่มักเป็นอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบก่อนภาคอื่นๆ ออกอาการหนักอกอีกครั้ง ซ้ำเติมจากโควิดทุกระลอกที่ผ่านมา โดย ธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวไทย ประเมินเฉพาะตลาดรัสเซียและยูเครน พบว่า ขณะนี้ประเทศรัสเซียยังไม่มีการบินแบบเช่าเหมาลำเข้ามาไทย มีเพียงการบินพาณิชย์เท่านั้น โดยชาวรัสเซียที่เป็นนักท่องเที่ยวแบบแท้จริงยังมาเที่ยวไทยน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10-20% ของภาพรวมเท่านั้น ส่วนคนที่เดินทางเข้ามาจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ มีบ้าน หรือมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทยมากกว่า ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอนนี้ยังส่งผลกระทบต่อตลาดไทยน้อยมาก

Advertisement

ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของไทยใกล้จะหมดแล้วในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 หากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อนานถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เท่ากับว่าช่วงไฮซีซั่นของไทยหมดลง และเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ซึ่งปกติแล้วจะมีความต้องการ (ดีมานด์) เพียง 20-30% ของช่วงไฮซีซั่นเท่านั้น รวมถึงหากสายการบินจะทำการบินออกนอกประเทศ จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลรัสเซียก่อน จึงมองว่าโอกาสจะมีสายการบินพาณิชย์ทำการบินเข้ามาน่าจะยากมากขึ้น ซึ่งเรื่องจริงที่เกิดขึ้น มองว่าผลกระทบหลักจะอยู่ในประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของชาวรัสเซียในตอนนี้มากกว่า อาทิ ตุรกี เพราะเราเห็นชาวรัสเซียเดินทางเที่ยวตุรกีมากขึ้น

⦁ชูแทรเวลบับเบิล‘อินเดีย-ซาอุ’
“เดือนมีนาคมนี้ ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ตลาดที่ยังคาดหวังได้อยู่ เป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย เป็นหลัก หากไทยสามารถทำแทรเวล บับเบิลกับอินเดียได้สำเร็จ เพราะจากการหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ข้อมูลว่า สิ้นเดือนมีนาคมนี้ น่าจะสำเร็จได้ เพราะขณะนี้เห็นบริษัททัวร์เริ่มทำแพคเกจท่องเที่ยวขายแล้ว คาดหวังเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป คาดการณ์ว่าจะเห็นคนอินเดียเข้าไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนคน”

ทั้งระบุอีกว่า ตลาดยังถือเป็นความหวังคือ ตลาดซาอุดีอาระเบีย ดูจาก 30 ปีก่อนหน้านี้ที่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯเข้ามาเที่ยวไทยสูงมาก ก่อนจะถูกรัฐบาลซาอุฯห้ามเข้าไทย แต่แม้ถูกห้ามเดินทางมา ก็ยังเห็นเข้ามาจำนวนกว่า 2 หมื่นคนต่อปี เชื่อว่าหลังฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งถือเป็นเรื่องที่ดี และรัฐบาลสามารถโรดโชว์แสดงสินค้าและบริการท่องเที่ยวไทย ช่วยกระตุ้นความสนใจได้ตลาดซาอุฯ และใกล้เคียงซาอุฯน่าจะมาช่วยได้ในภาวะปัจจุบัน คาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯเข้ามาประมาณ 2 แสนคนต่อปีเป็นอย่างน้อย

⦁เอกชนเร่งปรับตัวหนี้ต้นทุนพุ่ง
เมื่อสถานการณ์เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่โหมกระหน่ำเข้ามา ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไป ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ประเมินแล้วพบว่าสงครามไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ผลกระทบทางอ้อมก็มีมากที่เราต้องระมัดระวัง โดยสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ นโยบายการลงโทษรัสเซียของประเทศในยุโรป ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่อาจทะลุขึ้นไปสูงมาก ซ้ำเติมอัตราเงินเฟ้อของโลกให้สูงมากขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนนี้ไทยได้รับผลกระทบตามตลาดโลกด้วยอย่างแน่นอน

ภาคเอกชน จะต้องเตรียมตัวหาทางรอดให้ตัวเองในการดำเนินธุรกิจ คือ ทั้งการส่งออกและนำเข้า จะต้องหาทางทำธุรกรรมทางการเงินให้ได้ ไม่หวังพึ่งพาธนาคารใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะบทลงโทษที่พบคือ การแซงก์ชั่นธนาคารใหญ่ของรัสเซีย รวมถึงการเตรียมรับมือกับราคาสินค้าและวัตถุดิบที่จะปรับสูงขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในระยะยาว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องแบ่งเป็นแต่ละด้าน อาทิ ด้านพลังงาน ที่เห็นราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้องรณรงค์ให้ช่วยประหยัดการใช้น้ำมัน การปรับโครงสร้างตลาดใหม่ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจอีกสักระยะ

หากเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ธุรกิจและเศรษฐกิจกำลังเผชิญในวันนี้ เข้าสุภาษิต “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ใครล้ม ใครรอด คงต้องติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image