สภาพัฒน์ แนะทางช่วยภาคท่องเที่ยว หลังโควิด หนุนการเงิน แคมเปญท่องเที่ยว เสริมดิจิทัล

สภาพัฒน์ แนะทางช่วยภาคท่องเที่ยว หลังโควิด หนุนการเงิน แคมเปญท่องเที่ยว เสริมดิจิทัล

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เปิดเผยถึง บทความ “เสียงของ SMEs ภาคการท่องเที่ยว: การปรับตัว และความเห็นต่อการช่วยเหลือของรัฐ”มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แม้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการและแรงงานเอสเอ็มอี ยังเห็นว่าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ได้รับ ดังนั้น การสนับสนุนด้านการเงิน การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในธุรกิจท่องเที่ยว จึงเป็นแนวทางที่สำคัญ ให้เกิดการจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า จากผลกระทบต่อผู้ประกอบการและแรงงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมีมาตรการรับมือ คือ 1.การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ/แรงงาน โดยเน้นให้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูกิจการ การลดหรือยกเว้นภาษี รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 2.การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวตามช่วงฤดูกาล ที่เน้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก สนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จัดทำแพ็กเกจ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ที่เน้นสำหรับสถานประกอบการเอสเอ็มอี

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า และ 3.การส่งเสริมทักษะและการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตเสรีให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง สนับสนุนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของผู้ประกอบการ/แรงงาน รวมทั้งสนับสนุนและฝึกอบรมทักษะแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวะศึกษาที่อยู่ใน เอสเอ็มอีเพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการพัฒนา

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์สังคมที่สำคัญ ได้แก่ 1.โลกเสมือน (Metaverse) กับโอกาสใหม่ของประเทศไทย เนื่องจาก Metaverse เป็นการยกระดับการติดต่อสื่อสารหรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจากรูปแบบเดิมที่ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน หรือเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิสัมพันธ์ในโลกจริง ไปเป็นรูปแบบดิจิทัล คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากในอนาคต โดย Bloomberg Intelligence ประเมินว่า Metaverse มีมูลค่า สูงถึง 7.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 เช่นเดียวกับ Goldman Sachs ที่คาดว่า Metaverse จะสร้างมูลค่าการตลาดสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Advertisement

“สำหรับประเทศไทย Metaverse จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศ อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้ 1.โอกาสที่คนไทยและธุรกิจจะเข้าถึงอย่างครอบคลุม เนื่องจากอุปกรณ์ในการเข้าถึงมีราคาสูง 2)การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 3. ความเร็วและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ต Metaverse ต้องใช้ แต่พื้นที่บริการอินเทอร์เน็ต 5จี ของไทยยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 4. กฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อการกำกับดูแล และ 5.ความปลอดภัยของข้อมูล” น.ส.จินางค์กูร กล่าว

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า 2.คนไร้บ้าน : แนวทางการยกระดับความเป็นอยู่ให้พึ่งพาตนเองได้ในสังคม โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้จำนวนคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 30% (ข้อมูลการสำรวจของ พม. ร่วมกับ สสส. และเครือข่าย) สำหรับการแก้ปัญหาและให้การช่วยเหลือคนไร้บ้าน มีการดำเนินการคือ 1.ภาครัฐ ซึ่งดำเนินการผ่าน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก จะมีกลไกการช่วยเหลือ คือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2.หน่วยงานเอกชน อาทิ เครือข่ายคนไร้บ้าน มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือในลักษณะศูนย์พักพิงเช่นกัน รวมทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมองคนไร้บ้านว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ทุกคนมีคุณค่า เคารพใน ความแตกต่าง รวมทั้งมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมในหลายด้าน และช่วยกันแก้ปัญหาในทุกภาคส่วน

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า และ 3.ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยจากมุมมองของบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้า และอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง ผลการศึกษาใน ปี 2562 พบว่า 1.ภาพรวมคนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (ขาดดุลรายได้) ขณะที่การออมของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ 2.ภาครัฐมีแนวโน้มจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศคาดว่า ในปี 2583 รายจ่ายภาครัฐด้านสาธารณสุขต่อจีดีพี จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.71% และรายจ่ายภาครัฐด้านการศึกษาต่อจีดีพี จะเพิ่มขึ้นเป็น4.71% นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังอาจเพิ่มขึ้นกว่า 5.41% เนื่องจากประชากร
วัยแรงงานที่ลดลง 3. การเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจหดตัว โดยเฉลี่ยประมาณ
0.5% ต่อปี และ 4) วัยแรงงานต้องหารายได้เพื่อดูแลเด็กผู้สูงอายุ และตนเองคิดเป็นมูลค่า 7.7 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง (มีชีวิตอยู่จนถึง 90 ปี)

Advertisement

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า จากผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.การเพิ่มรายได้จะเป็น
สิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมี
การเตรียมความพร้อมด้านทักษะของวัยเด็กให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของวัยสูงอายุ 2.การชดเชยการขาดแคลนของแรงงานผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงในระยะยาว
3. การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ทั้งการเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงินโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน รวมถึงวางแผนเกษียณเพื่อเตรียมความพร้อมของชีวิตเมื่อมีรายได้ลดลง และ
4.การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

///////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image