‘ศักดิ์สยาม’ บี้ กทท. เร่งตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ จ่อจงครม.ตั้ง 3 บริษัทลูกร่วมทุนเอกชนปีนี้

‘ศักดิ์สยาม’ บี้ กทท. เร่งตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ จ่อจงครม.ตั้ง 3 บริษัทลูกร่วมทุนเอกชนปีนี้

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่อาคารสโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ กทท. ว่า ที่ผ่านมาแม้การท่าเรือฯ ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ยังประคองธุรกิจให้ผ่านมาได้ โดยเมื่อปี 2564 มีจำนวนตู้สินค้าที่เติบโตขึ้นเป็น 9.8 ล้าน TEU จากปี 2563 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 9 ล้าน TEU และเมื่อเทียบจากการจัดอันดับประเทศที่มีการขนส่งสินค้าทั่วโลก เมื่อปี 2564 พบว่า ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ลำดับที่ 22 ของโลก และมีการขนส่งอยู่ที่ 8.4 ล้าน TEU ทั้งนี้ ในปี 2564 การท่าเรือฯ มีรายได้โดยรวมเฉลี่ย 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,270 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 600 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 9,343 ล้านบาท ซึ่ง กทท. มีรายได้สูงสุดเกี่ยวกับสินค้า 70.75% รายได้เกี่ยวกับเรือ 11.91% รายได้เกี่ยวกับค่าเช่าที่ดิน อาคารและคลังสินค้า 9.54% รายได้เกี่ยวกับบริการ 2.91% และรายได้อื่นๆ 4.98%

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นอกจากติดตามผลการดำเนินงานแล้ว ยังได้มีการเร่งรัดให้ กทท. เร่งรัดการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยกองเรือไทย รวมทั้งลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแต่ภาครัฐยังมีส่วนถือหุ้นในลักษณะเหมือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการจัดตั้ง 3 บริษัทลูกร่วมทุนเอกชน และตั้งเป้าเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2565 นี้

Advertisement

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการนำระบบท่าเรืออัตโนมัติ มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ เพื่อให้เกิดความแน่นอนและแม่นยำในการวางแผน การบรรทุกและการขนถ่ายสินค้า อำนวยความสะดวกในการบริหารพื้นที่หลังท่า และสามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น โดย การท่าเรือฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2568 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ ต้องเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมการขนส่งระหว่างจีนสู่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ต่อไปอีกด้วย

“ส่วนอีกหนึ่งเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคม ตั้งความหวังไว้คือในปี 2568 เมื่อพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังแล้วเสร็จ ไทยจะต้องอยู่อันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีการขนส่งทางเรือมากติดระดับโลก และคาดว่าในปี 2572 เมื่อไทยพัฒนาและก่อสร้างโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) แล้วเสร็จ รวมกับท่าเรืออื่นๆ ที่มีอยู่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าเป็น 40 ล้าน ETU ซึ่งมากพอที่จะทำให้ไทยติดท็อป 10 ของโลกได้ในที่สุด” นายศักดิ์สยาม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image