‘ปริญญ์’ ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดสินทรัพย์ดิจิทัลช่วงสั้น ห่วงเงินเฟ้อของแพงมากกว่า

‘ปริญญ์’ ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบสินทรัพย์ดิจิทัลระยะสั้น เทรนด์โลกวอนรัฐอย่าคุมมากเกินไป ห่วงปัญหาเงินเฟ้อของแพง-ศก.โตช้า

จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนสร้างผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ตลอดจนราคาพลังงานทั่วโลกนั้น “มติชน” สัมภาษณ์ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ถึงสถานการณ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

‘ปริญญ์’ ชี้สินทรัพย์ดิจิทัลกระทบสั้น
นายปริญญ์กล่าวถึงผลกระทบสงครามรัสเซียกับยูเครนต่อสินทรัพย์ดิจิทัลว่า ผลของสงครามทำให้ตลาดทุนและการลงทุนไม่แน่นอน เป็นความเสี่ยงที่ทำราคาทอง ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น และเป็นผลลบในเชิงจิตวิทยา ต่อสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น สินทรัพย์ดิจิทัลเอง ถูกเทขายจากนักลงทุน ดังนั้น ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนจึงไม่ดีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะสั้น แต่เชื่อว่าสงครามครั้งนี้ไม่น่าจะยืดเยื้อ

“เวลาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนแรงมาก ทำให้เกิดภาวะที่ตกใจจากวิกฤตเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงเทขายจำนวนมาก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนก็เริ่มมีแรงซื้อกลับมา เพราะฉะนั้น ความผันผวนยังคงอยู่ต่อไป เพราะเป็นธรรมชาติของสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะต้องเผชิญไปอีกระยะ” นายปริญญ์กล่าว

Advertisement

เทรนด์โลกวอนรัฐอย่าคุมมากเกินไป
นายปริญญ์กล่าวว่า ในระยะยาวจะเห็นแนวโน้มหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนมาใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ แม้แต่รัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศมีการพัฒนาบล็อกเชนของสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบการเงินของประเทศเช่นกัน จึงมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโอกาสการลงทุนในระยะยาว ในอนาคตเทรนด์ของโลกยังคงหันมาใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ทั้งเหรียญดิจิทัล เสถียรภาพสูง (สเตเบิล คอยน์) ซึ่งออกโดยรัฐบาล หรือธนาคารกลางของประเทศ หรือเรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) อาทิ จีน ได้ออกดิจิทัลหยวน และไทยเองกำลังศึกษาดิจิทัลบาท หรือบาทคอยน์ ซึ่งทั่วโลกจะออกผลิตภัณฑ์เช่นนี้เยอะขึ้น ทำให้การเงิน การค้าเติบโตขึ้น เช่นเดียวกัน ในภาคเอกชนจะออกเหรียญดิจิทัลด้วย เช่น tether (USDT) ที่ใช้ในสกุลเงิน USD หรือดอลลาร์ได้ และตลาดจะมีการพัฒนาที่มากขึ้น

นายปริญญ์กล่าวว่า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือหน่วยงานภาครัฐของไทยอย่าเพิ่งออกกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายที่มากจนเกินไป จนไปสกัดกั้นการเติบโต ขีดความสามารถของการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ บล็อกเชน ยังไม่มีใครทราบถึงขอบเขตการเติบโต และถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ในไทยเพิ่งเริ่มเรียนรู้มาได้ 5-6 ปี ดังนั้น ควรจะมีการศึกษาและทดลองใช้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ออกกฎเกณฑ์มาตีกรอบ จนต้องเสียโอกาสไป

“รัฐอย่าออกกฎเกณฑ์จนพะรุงพะรัง หรือเกินควร ไม่ควรมาจำกัดขอบเขตการเติบโตของเทคโนโลยี และสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ สิ่งที่ควรทำคือการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชนดีกว่า ให้ประชาชนมีความเข้าใจ ลงทุนได้อย่างถูกต้อง หรือแม้กระทั่งการบรรจุหลักสูตร การออม การลงทุนตั้งแต่เยาว์วัย หรือหลักสูตรเรื่องความรู้ทางดิจิทัล ที่ให้ประชาชนปรับตัวเข้ากับโลกในอนาคตได้ เพราะตอนนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งการเกิดสกุลเงินดิจิทัล การค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ การปล่อยสินเชื่อดิจิทัลที่เข้ามาในสังคมปัจจุบันแล้ว” นายปริญญ์กล่าว

Advertisement

ห่วงปัญหาเงินเฟ้อของแพง-ศก.โตช้า
นายปริญญ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากผลของสงคราม ประเด็นที่น่ากลัวกว่าความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัล คือเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ เป็นปัญหาที่มีความยืดเยื้อ และเป็นปัญหาที่ใหญ่จริง สำหรับตลาดเงินและการลงทุน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง เกิดภาวะข้าวของแพง แต่เศรษฐกิจโตช้า และถดถอย เนื่องจากการฟื้นตัวแบบลักปิดลักเปิด รวมถึงการฟื้นตัวหลังสงคราม ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง ส่วนนี้ทำให้หลายคนมีความกังวล เพราะช่วงก่อนหน้านี้มีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ซึ่งเศรษฐกิจโลกเวลาที่ถูกล็อกดาวน์มานาน และมีเงินอัดฉีดเพื่อเยียวยา ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้น และเมื่อคลายล็อกจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ปัญหาคือ เมื่อคลายล็อก ธนาคารกาลสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดเงินเฟ้อไว้ แต่เมื่อมีสงครามแทรกเข้ามา จึงทำให้เฟดอาจจะคุมสถานการณ์เงินเฟ้อไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image