‘กรุงศรี’ ชี้ ต้นทุนพลังงานเขย่าเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้คาดเงินบาท 32.50-33.20 ต่อดอลล์

แฟ้มภาพ

‘กรุงศรี’ ชี้ ต้นทุนพลังงานเขย่าเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้คาดเงินบาท 32.50-33.20 ต่อดอลล์

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.  นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.70 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในกรอบ 32.40-32.78 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรแต่อ่อนค่าเทียบกับเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี หลังชาติตะวันตกตอบโต้การรุกรานของรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งมุ่งเน้นที่ธุรกรรมทางการเงิน แม้ภาคพลังงานยังไม่ได้ถูกคว่ำบาตร แต่การส่งออกจากรัสเซียกำลังเผชิญอุปสรรคและเพิ่มแรงกดดันด้าน Supply Shock ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าสงครามในยูเครนอาจกระทบสหรัฐฯ ผ่านทางช่องทางเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่จนถึงเวลานี้เฟดยังอยู่บนเส้นทางของการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่วนข้อมูลจ้างงานของสหรัฐฯ สดใสเกินคาดแต่อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงโดยนักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 10,467 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตรสุทธิ 31,965 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเกิดจากตราสารครบอายุ

“ คาดว่าตลาดจะผันผวนตามสถานการณ์ในยูเครนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ตลาดจะจับตาข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ หลังประธานเฟดให้ความเห็นว่าจะสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ ทางด้านการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 10 มีนาคม คาดว่าอีซีบีจะส่งสัญญาณประคองเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียของชาติตะวันตก ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง “ นางสาวรุ่ง กล่าว

นางสาวรุ่ง กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 5.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 1.80% โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลของราคาพลังงานและอาหาร รวมถึงฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มองแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมยังอยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน แต่เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใดๆในขณะนี้ อนึ่ง กรุงศรีมองอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับกระแสเงินทุนไหลเข้าสินทรัพย์สกุลเงินบาทว่าอาจกลับทิศขณะที่สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น และต้นทุนการผลิตที่ทะยานขึ้นเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image