ผู้เขียน | ปิยะวรรณ ผลเจริญ |
---|
เห็น วิกฤตราคาพลังงาน พุ่งทะยานสวนทางกับเงินในกระเป๋าแล้ว ประชาชนอย่างเราๆ บอกได้คำเดียวว่าท้อใจ เพราะวิกฤตโควิดก็ยังลากยาวไม่จบไม่สิ้นสักที ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในระยะฟื้นตัวหลังทรุดหนักมา 2 ปีเต็ม
ประเด็นราคาน้ำมันแพง ก่อนหน้านี้ กลุ่มรถบรรทุกไม่พอใจราคาดีเซล ออกมาประท้วงปิดถนน ปิดกระทรวงพลังงาน ขณะที่ชาวบ้านร้านตลาดไปจนถึงผู้ประกอบการเอกชน ออกมาเรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือ จนรัฐบาลตัดสินใจยอมลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาท ดีใจได้ไม่กี่วัน มีสัญญาณแนวโน้มค่าไฟปรับขึ้นแน่ จึงซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก
ราคาพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันพุ่งสูง ผลพวงสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ดุเดือด ทำให้คนไทยหลีกเลี่ยงเรื่องค่าไฟฟ้าแพงไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าในบ้านเราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ครั้นจะพึ่งพาก๊าซจากอ่าวไทยก็ไม่มีแหล่งใหม่ๆขณะที่แหล่งเดิมก็เจอปัญหาการส่งมอบแหล่งก๊าซที่ล่าช้า ปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศต่อวันจึงมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการ
ล่าสุด การทบทวนและประกาศค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในเดือนมีนาคมนี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตามราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งพรวด ขณะที่การอุดหนุนค่าไฟก็ยาก ที่ผ่านมาเพราะรอบบิลเดือนมกราคม-เมษายน 2565 กกพ.ได้นำเงินสะสมจากบัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาในอดีตกว่า 18,000 ล้านบาท มาพยุงค่าไฟฟ้าจนหมดหน้าตักแล้ว
โดยค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนก็ต้องใช้ไฟ อาจมีผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่าน้ำมันเสียอีก
ต้องจับตาว่าทั้งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน รวมถึง กกพ. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ถ้าปล่อยให้ค่าไฟแพงจนประชาชนกระเป๋าฉีก คำว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” คงเหมาะกับสถานการณ์นี้ที่สุด