“วอร์รูมพาณิชย์” รับต้นทุนเอกชนพุ่ง ชง”จุรินทร์” เคาะ ตรึงหรือปล่อย
วันที่ 9 มีนาคม นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภายหลังประชุมวอร์รูม หารือแนวทางการรับมือ และมาตรการรองรับผลกระๆทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต่อการค้าไทยว่า ที่ประชุมได้อัพเดตข้อมูลสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งบางส่วนได้รับผลกระทบไปแล้วคือการขนาดแคลนวัตถุดิบหรือวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น
ลั่นดูแลห่วงโซ่อุปทาน-ซัพพลายเชน
โดยสินค้าแรกที่ได้พิจารณาคือปุ๋ยกับอาหารสัตว์ ซึ่งปุ๋ยใช้แม่ปุ๋ยนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ใช้มากสุดคือปุ๋ยยูเรีย เป็นผลผลิตจากก๊าซธรรมชาติที่ตอนนี้มีราคาสูงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ปุ๋ยยูเรียและวัตถุดิบผลิตปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่วนกลุ่มอาหารสัตว์ปัจจุบันข้าวโพดสัตว์เลี้ยงมีราคาสูงและข้าวสาลีแหล่งผลิตใหญ่ที่ยูเครนก็มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นรายวัน ในวันนี้(9 มีนาคม) ราคาเกิน 125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย กระทบต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอาจจะได้รับผลกระทบ ยังมีเรื่องค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ ส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย
ชี้ต้นทุนสูงขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ
“ทางกระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานและซัพพลายเชน ให้เกิดความเป็นธรรม ต้องดูตั้งแต่ต้นทางคือผู้ผลิตไปถึงปลายทางคือผู้บริโภค หากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ ก็ต้องดูแลให้ธุรกิจนั้นสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ขณะเดียวกันต้องไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนจากภาวะราคาที่สูงจนเกินไป ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม “
ย้ำผู้ผลิตอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา
นายบุญยฤทธิ์กล่าวอีกว่า ดังนั้นหากจะมีการปรับเปลี่ยนราคา จะต้องตรวจสอบดูแลว่าการปรับราคาต้องสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่ใช่การฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันควร ไม่ใช่สินค้าทุกตัวที่ได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน บางตัวกระทบมาก บางตัวกระทบน้อย จะมาตีเป็นสูตรสำเร็จว่าจะต้องขึ้นเหมือนกันทุกตัว คงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็คาดหวังว่าสถานการณความขัดแย้งจะยุติโดยเร็วเพื่อให้ปัญหาลดน้อยลง
จับตาราคาสินค้า 18 รายการอย่างใกล้ชิด
นายบุณยฤทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในการควบคุม 18 รายการ ซึ่งรวมถึงปุ๋ยและอาหารสัตว์ ขอปรับราคาขึ้น หากจะปรับต้องให้กระทรวงพาณิชย์อนุญาตก่อนถึงจะปรับได้ ทั้งนี้ได้รับแจ้งจากสมาคมปุ๋ยว่าราคาแม่ปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น ขอให้กระทรวงพิจารณา แต่ก็เพียงรับทราบ ยังไม่มีการพิจารณา เพราะการขอปรับราคาต้องแจ้งมาอย่างเป็นทางการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจะพิจารณาโดยเร็วที่สุด รวมถึงสินค้าอื่นๆด้วย ที่ขอปรับราคามา วันนี้ถ้ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตก็ยังปรับราคาไม่ได้
“ยังต้องจับตาสินค้า 18 รายการที่ควบคุมอย่างใกล้ชิด หากจะขอปรับราคาต้องแจ้งต้นทุนเข้ามา เราจะตรวจสอบ เพราะภาวะต้นทุนหลอกกันไม่ได้ หากแจ้งไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องความเป็นจริง ถ้าพบว่าแจ้งเท็จจะมีความผิดตามกฎหมาย ที่ผ่านมารับทราบ แต่ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ เช่น นมข้นหวานที่พูดกันว่าต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น คงต้องหารือหลายภาคส่วนรวมถึงผู้ผลิตด้วยหากจะมีการขึ้นราคา ”
ชง”จุรินทร์”เคาะนโยบาย
นายบุญยฤทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่มีวัตถุดิบจำเป็นต้องนำเข้าที่จะอิงกับตลาดโลก ต้องดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยดูแลผู้ผลิตในการพิจารณาลดต้นทุนให้มากที่สุดและราคาจำหน่ายกับผู้บริโภคต้องดูว่าจะทำอย่างไรราคาจึงจะไม่สูงจนเกินไป ซึ่งเป็นหลักการที่จะใช้กับสินค้ามีการนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมด
สำหรับรายละเอียดแนวทางในเชิงนโยบายจะนำเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาใน 1-2 วันนี้ว่าจะเดินในทางไหน ภายใต้หลักการที่ผู้ผลิตอยู่ได้และผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ภายใต้ภาวะราคาที่ปัจจัยการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Lovely Eye & Skin Clinic ครบรอบ 10 ปี แห่งความสำเร็จ
- ‘นายกฯ’ หนุน AIPA ร่วมทำงาน สร้างความเข้มแข็งให้อาเซียน แนะเสริม 3 บทบาท
- แจงยอดเงินบริจาค บัสไฟไหม้ มอบผู้บาดเจ็บรายละ 1.5 ล้าน ผู้เสียชีวิต ได้ครอบครัวละ 1.9 แสน
- บอสพอล แจงโดนด่าทั้งที่ทำกำไรให้ โต้มีคนเป็นเหยื่อฆ่าตัวตาย ยันบริสุทธิ์ พร้อมพิสูจน์ความจริง