‘กรุงไทย’ ชี้สงครามรัสเซียยูเครน ทำเงินเฟ้อพุ่ง 4.2%-ส่งออกยุโรปลด-ท่องเที่ยวหด

‘กรุงไทย’ ชี้สงครามรัสเซียยูเครนกระทบไทย ทำเงินเฟ้อพุ่ง 4.2%-ส่งออกยุโรปลด-ท่องเที่ยวหดตัว

นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก หลังชาติพันธมิตรนาโตพยายามพุ่งเป้าไปที่แหล่งรายได้หลักของรัสเซียอย่างการลดการนำเข้าพลังงาน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศใช้ไปแล้วในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้รัสเซียหยุดรุกรานยูเครนได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งล่าสุดสหรัฐได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทั้งหมดของรัสเซีย ขณะที่อังกฤษประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับยุโรปที่มีแผนจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียราว 2 ใน 3 ภายในปีนี้

นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่รุนแรงขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดีดตัวขึ้นสูงเกิน 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาสัญญาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าของยุโรป (Dutch TTF) ที่เพิ่มขึ้นจาก 82 ยูโรต่อเมกะวัตต์ จนไปแตะระดับ 227 ยูโรต่อเมกะวัตต์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายมานะกล่าวว่า สงครามได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี

กรณีดีที่สุด : ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือน มี.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
กรณีฐาน : ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือน พ.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง

Advertisement

และกรณีเลวร้าย : ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือน ส.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-ส.ค.ก่อนจะทยอยปรับลดลง

นายมานะกล่าวว่า เงินเฟ้อไทยครึ่งปีแรกอาจสูงเกิน 4.0% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1จากอิทธิพลของฐานต่ำในปีก่อนและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นที่ 3.4% และอาจเร่งสูงถึง 4.2% หากสถานการณ์ลากยาวออกไป ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดค่าครองชีพที่อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง

ผลกระทบการส่งออกไทยไปยุโรปอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ถึงแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสู่รัสเซียและยูเครนรวมกันเพียง 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด แต่ผลกระทบที่น่ากังวลจะเกิดจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวกว่าเดิมหากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานรุนแรงขึ้น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทวีปยุโรปสูงถึงราว 10% และโดยมากเป็นสินค้าที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Cyclical) อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์และส่วนประกอบ

Advertisement

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าที่ยากลำบากขึ้นอาจกระทบการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากฝั่งรัสเซียมายังเอเชียจะต้องขนถ่ายมายังท่าเรือหลักในยุโรป (เช่น Hamburg และ Rotterdam) ซึ่งจะขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ลงสู่เรือลำเล็กกว่าตามแต่ละประเภทสินค้าก่อน แล้วค่อยไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งภายหลังจากที่มีการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ของโลกหลายรายตัดสินใจยุติคำสั่งเพื่อขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะท่าเรือขนาดใหญ่อย่าง Great Port of Saint Petersburg ในทะเลบอลติก และท่าเรือ Novorossiysk ในทะเลดำ ทำให้รัสเซียใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านระบบรางทรานส์-ไซบีเรียและการขนส่งทางบกจากจีน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งไทยนำเข้าจากรัสเซียสูงถึง 10% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทั่วโลก

นายมานะกล่าวว่า รวมไปถึงผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว จากวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซีย และการอ่อนค่าของเงินรูเบิลอย่างรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อก็อาจกระทบลามไปถึงยุโรปตะวันออกให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวออกไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมากจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ทำให้สัดส่วนชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือราว 3 หมื่นคนในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ที่ไม่ถึง 4% ในปี 2562

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image