ครม.สู้พิษน้ำมันแพง ปลดล็อกเพดานกู้กองทุน ‘สุพัฒนพงษ์’ เล็งตรึงดีเซลยาว พณ.-กษ.ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ย

ครม.สู้พิษน้ำมันแพง ปลดล็อกเพดานกู้กองทุน ‘สุพัฒนพงษ์’ เล็งตรึงดีเซลยาว พณ.-กษ.ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ย

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567 เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ดังนี้

1.ยกเลิกการกำหนดวงเงินบริหารกองทุนน้ำมันฯ จากเดิมการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ เมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งการปรับยกเลิกครั้งนี้เพื่อรองรับการดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดูแลราคาน้ำมันให้กับประชาชน

2.การปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันฯ (Exit Strategy) ให้ยกเลิกการปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง เมื่อฐานะกองทุนน้ำมันใกล้ติดลบ แต่ยังคงดำเนินการหารือการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้เหมาะสม ไม่ให้กองทุนขาดสภาพคล่อง จากเดิม กำหนดว่าให้ปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง หากกองทุนน้ำมันฯ ใกล้ติดลบ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพด้วยสาเหตุความผันผวนของราคาน้ำมัน

“ในที่ประชุมท่านนายกฯ ยังแนะให้ดูแลเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม รวมทั้งให้กองทุนน้ำมันฯ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด” นายธนกรกล่าว

Advertisement

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้ปรับวงเงินบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯดังกล่าว จะทำให้การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรได้นานขึ้น ซึ่งปัจจุบันอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 7 บาท

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานสถานการณ์ต้นทุนราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ และผลไม้ ว่า ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น และปริมาณไม่เพียงพอ เบื้องต้นให้มีการปรับราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ให้มีการขึ้นราคาเกินสมควร โดยกระทรวงเกษตรฯ จะมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีที่ลดลงในตลาด ขณะที่เรื่องผลไม้ มีการแสวงหาตลาดใหม่โดยการจับคู่ทางธุรกิจทางออนไลน์ พบว่า ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

นอกจากนี้ได้หารือกับฝ่ายจีนในการขนส่งผลไม้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงจากลาวไปจีน พร้อมกับเร่งรัดจีนให้มีการเปิดด่านตรวจสุขอนามัยพืช ด้านเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาสูงขึ้นมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด หลายฝ่ายจึงเห็นพ้องต้องกัน ให้มีการยกเลิกการจำกัดโควตานำเข้าข้าวสาลีเป็นเวลาชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และต้องไม่นำเข้าเกินกว่าที่กำหนด แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการพิจารณาการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image