“จุรินทร์” ออนทัวร์แม่ฮ่องสอนคืนโฉนดเกษตรกร-เดินหน้าประกันรายได้ สินค้าเกษตร ปี 3

“จุรินทร์” ออนทัวร์แม่ฮ่องสอนคืนโฉนดเกษตรกร-เดินหน้าประกันรายได้ สินค้าเกษตร ปี 3

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเป็นประธานในพิธีมอบเช็คชำระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้แก่ เกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายดนุภัทร เชียงชุม ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ มาคืนโฉนดและมอบประกาศนียบัตรให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูและชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว จึงคืนโฉนดที่ดินให้กับพี่น้องเกษตรกรกลับคืน ซึ่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 ในยุครัฐบาลชวนสอง ตอนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาถึงวันนี้ตนเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้วยตนเอง ทำงานร่วมกับพวกเราทุกจังหวัด ตอนนี้มีสำนักงานสาขาครบทุกจังหวัดแล้ว และสามารถเดินหน้าทุกอย่างไปตามเป้าหมายของกองทุน คือ 1.ช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว 5 ล้านกว่าคน และให้กองทุนสามารถซื้อหนี้ จากสถาบันการเงินมาเป็นหนี้เป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ และกองทุนยังช่วยจัดงบประมาณฟื้นฟูอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตเรียกว่า โครงการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรหรือพัฒนา ซึ่งมีงบที่พี่น้องมาขอกับกองทุนโดยให้เป็นโครงการ ตลอด 2 ปีที่ตนเป็นประธานให้ไปแล้ว 500 กว่าโครงการทั่วประเทศ และได้ของบกลาง เสนอ ครม.เห็นชอบแล้ว 2,000 ล้านบาท ที่สำคัญ หากมีผู้ที่อ้างเป็นนายหน้าของบกองทุนให้ขึ้นทะเบียนหนี้ให้ ซึ่งกองทุนพิจารณาตามความเป็นจริงใครไปเรียกเงินและทำไม่ถูกต้องมีความผิดตามกฎหมาย มีเพียงค่าใช้จ่ายตามระบบราชการอย่างเดียว

Advertisement

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนใหญ่พี่น้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเดิมเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล และเป็นนโยบายของรัฐบาลเดินหน้า 2 ปีเต็ม เข้าสู่ปีที่ 3 ผู้ปลูกพืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีรายได้สองทางจากการขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน และพืชเกษตรเกือบทุกตัวราคาดี ตนมีนโยบายใช้ “อมก๋อยโมเดล” กับ พืชที่มีจำนวนไม่มากจนเกินไป เช่น หัวหอม กระเทียม ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยทีมเซลล์แมนจังหวัด ช่วยพาเกษตรกรพบผู้ซื้อตกลงราคาล่วงหน้า และเซ็นสัญญาทำหลักประกัน ซึ่งหอมหัวใหญ่ปีนี้จาก 8 บาท/กก. เป็น 15 บาท/กก. และหอมกับกระเทียมปีนี้ราคาจะเสถียรขึ้น เพื่อช่วยระบายของโดยให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตกลง ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ และพวกเราจะช่วยดูแลทุกคนให้ดีที่สุดเกษตรกรเป็นคนที่มีความสำคัญกับประเทศและเศรษฐกิจฐานรากโตได้เพราะพวกเราทั้งหมด ถือว่าทุกคนมีความสำคัญและการส่งออกปีที่ผ่านมาดีมากนำเงินเข้าประเทศ ทำรายได้จากการส่งออกถึง 8.5 ล้านล้านบาท

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จำนวน 3,934 รายมูลค่าหนี้ 356 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทนแล้วจำนวน 97 รายจำนวนเงิน 14.02 ล้านบาท และวันนี้มีเกษตรกรสมาชิก กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มารับมอบโฉนดที่ดิน/เกียรติบัตร จากรองนายกรัฐมนตรี จำนวน 24 ราย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image