อั้นไม่อยู่ ขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4 บาท/ยูนิต เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์-ปตท.ขยายตรึงเอ็นจีวี 3 เดือน

อั้นไม่อยู่ ขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4 บาท/ยูนิต ปตท.ขยายตรึงเอ็นจีวี 3 เดือน ห่วงขายเหล้าทั้งวันส่งเสริมนักดริงก์

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 16 มีนาคม มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เป็นผลมาจากการคำนวณเอฟทีงวดนี้เพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับการเก็บค่าเอฟทีรอบก่อนหน้า (กันยายน-ธันวาคม) อัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายจริง 4.00 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายคมกฤชกล่าวว่า สาเหตุการปรับเพิ่มดังกล่าว มีปัจจัยหลักผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครน จนเกิดวิกฤตราคาพลังงานโลก ประกอบกับก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ารอบใหม่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.21% และจากราคาพลังงานที่สูงจะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นไปถึงต้นปี 2566

ขณะที่ นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐได้ขอให้ ปตท.สนับสนุนนโยบายของกระทรวงพลังงาน บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวน ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และราคาขายปลีกเอ็นจีวี ตามมาตรการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันŽ สำหรับแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เคยได้รับสิทธิอยู่ก่อน ที่ 13.62 บาทต่อ กก. ต่อไป รวมระยะเวลา 3 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 15 มีนาคม 2565 เป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2565 คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,322 ล้านบาท

Advertisement

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอปลดล็อกการห้ามขายสุราในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ว่าการห้ามจำหน่ายและดื่มสุราเป็นช่วงเวลา เป็นคำสั่งจากคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 เชื่อว่าการออกกฎหมายในขณะนั้น อ้างอิงจากการรับประทานอาหารของคนไทยในสมัยนั้น โดยให้จำหน่ายไม่เกินเที่ยงคืน ร้านที่จำหน่ายแอลกอฮอล์หลังเที่ยงคืนได้จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ โดยทั่วประเทศมีสถานบริการตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ราว 3,000 แห่ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นสถานประกอบการที่คล้ายคลึงสถานบริการที่มีการเล่นดนตรี และจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนนี้ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่จำหน่ายไม่เกินเที่ยงคืน

“การกำหนดเวลาขายก็เพื่อลดการเข้าถึง แต่หากให้ขาย 24 ชั่วโมง ก็จะยิ่งส่งเสริมให้มีการดื่มกันมากขึ้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่มีแนวโน้มทำลายสุขภาพมากขึ้น หากจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ก็แล้วแต่นโยบายของผู้บริหารประเทศ ซึ่งต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอนอีกมากและต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเคยหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ เกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ให้สามารถขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เช่น ในพื้นที่สนามบินนานาชาติ หรือพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน” นพ.นิพนธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image