‘ค่าไฟ’ ลามทุ่ง จะอยู่รอดได้อย่างไร
ร้องโอดโอยไปตามกัน หลังกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับ
เพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ยอดบิลเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ประชาชนต้องจ่ายจริง 4.00 บาทต่อหน่วย
สูงสุดเป็นประวัติการณ์
สัญญาณค่าไฟที่เพิ่มขึ้น หากยังจำกันได้ กกพ.แจ้งมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่า
ปี 2565 พุ่งแน่ แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก จึงใช้วิธีขึ้นค่าไฟแบบขั้นบันไดในช่วง 3 รอบของปีนี้ โดยรอบแรกเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เรียกเก็บค่าเอฟทีที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ที่เหลือจะทยอยขึ้นใน 2 รอบที่เหลือของปี (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 และกันยายน-ธันวาคม 2565)
แต่ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งทะลุ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยังส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมเหลว (แอลเอ็นจี) จากไม่ถึง 10 เหรียญต่อล้านบีทียู กลายเป็น 70-90 เหรียญต่อล้านบีทียู แอลเอ็นจีถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย จึงส่งผลต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้ากลายเป็นค่าไฟงวดใหม่ที่แพงสุดเป็นประวัติการณ์นั่นเอง
มาทำความเข้าใจโครงสร้างค่าไฟกันก่อน ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ค่าไฟฟ้าฐาน อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมุติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ระดับหนึ่ง มีส่วนประกอบตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า อาทิ บ้านที่อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดใหญ่ องค์กรไม่แสวงหากำไร
2.ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) คำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน ค่าเอฟทีจะมีการปรับปรุงทุก 4 เดือน ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกเดือนมกราคม-เมษายน รอบสองเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และรอบสามเดือนกันยายน-ธันวาคม
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าเอฟทีรอบใหม่ แน่นอนมาจากผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครน จนเกิดวิกฤตราคาพลังงานโลก ประกอบกับสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ที่ยังไม่มีความแน่นอนในกำลังการผลิต
อย่างไรก็ตาม เอฟที 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ไม่ใช่ตัวเลขแรกที่คำนวณออกมา เพราะจริงๆ แล้วจากต้นทุนทั้งหมด กกพ.ประมาณการค่าเอฟทีรอบใหม่สูงขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 1.29 บาท
ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นภาระหนักให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ามากเดินไป กกพ.จึงนำแผนบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำที่สุดมาคำนวณ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้า
น้ำเทินก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและ
น้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และเกณฑ์คำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นเนอร์ยี่ พูล ไพรส์) เพื่อให้ต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง รวมทั้งให้ กฟผ.สละช่วยรับภาระ 3.89 หมื่นล้านบาทไว้ก่อน อนาคตเมื่อต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลง กกพ.จะทยอยคืนค่าเอฟทีแก่ กฟผ.
จากต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำดังกล่าว เมื่อมาเกลี่ยค่าเอฟทีแบบขั้นบันได 3 รอบ คือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2556 เรียกเก็บ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เรียกเก็บ 64.83 สตางค์ต่อหน่วย และเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เรียกเก็บ 1.10 บาทต่อหน่วย
ที่น่าหวาดหวั่นคือ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ค่าเอฟที 1.10 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฐานประมาณ 3.76 บาทต่อหน่วย คนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟต่อหน่วยเกือบ
5 บาททีเดียว
จากข้อมูลพบว่า เดิมประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นหลัก แต่ด้วยปริมาณในแหล่งปิโตรเลียมเดิมลดลง ขณะที่แหล่งใหม่ไม่สามารถเปิดสำรวจและผลิตได้ จึงเริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณนำเข้าเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแตะ 33% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ขณะที่แอลเอ็นจีนมีต้นทุนแพงกว่าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากมีกระบวนการแปลงสภาพและการทำให้อุณหภูมิลดลงถึง -170 องศาเซลเซียส
ล่าสุด คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เตรียมเสนอรัฐบาลให้ตัดสินใจบริหารจัดการอย่างไร ในสถานการณ์นี้ โดยระบุว่า หากแอลเอ็นจียังมีราคาเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้าน
บีทียู คาดว่าค่าไฟจะยืนเหนือระดับ 4 บาทต่อหน่วยต่อไปแน่นอน เพราะการผลิตไฟฟ้า
พึ่งพาแอลเอ็นจีมากขึ้น ดังนั้นต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทใดในอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำด้วยการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว หรือหากใช้แอลเอ็นจีอาจใช้วิธีเดียวกับประเทศญี่ปุ่นคือซื้อช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตราคาจะสามารถบริหารจัดการได้ หรือเพิ่มการผลิตจากแหล่งก๊าซในประเทศ
ขณะที่ในฟากตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟที่แพงอย่าง สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า อัตราค่าไฟดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม แต่ที่หนักสุดคือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ เหล็ก ปิโตรเคมี การผลิตขั้นต้น อาจทำให้ราคาสินค้าทยอยปรับขึ้นหลังเผชิญกับต้นทุน
ที่เพิ่มขึ้นทุกด้าน จากการหารือกับผู้ประกอบการได้ข้อมูลว่าจะพยายามตรึงราคาให้นานที่สุด
ประธาน ส.อ.ท.ยังมีข้อเสนอว่า หากรัฐบาลไม่มีงบประมาณเข้ามาอุดหนุนผู้ใช้ไฟ ก็ควรใช้เครื่องมือทางภาษีแทน เพราะจะได้ประโยชน์หลายด้าน โดยควรฟื้นมาตรการสนับสนุนให้เอกชนผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) ของผู้ประกอบการ และสามารถนำการลงทุนไปลดหย่อนภาษี แนวทางนี้นอกจากจะกระตุ้นการลงทุนของเอกชน ลดภาระค่าไฟ ยังเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด การพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เบื้องต้นอาจให้สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำแพคเกจ
กระตุ้นการลงทุนเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอเคยมีมาตรการส่งเสริมแล้วแต่หมดอายุลง
จึงอยากให้ฟื้นมาตรการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนผู้ลงทุนรายใหม่ รวมทั้งต่ออายุสำหรับรายเก่าที่อยากจะขยายการลงทุนด้านนี้
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาค่าไฟปรับขึ้นมาตลอดอยู่แล้ว เมื่อรวมกับต้นทุนวัตถุดิบ ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตบางรายตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า หรือลดขนาดสินค้า เหล่านี้ส่งผลกระทบไปยัง
ผู้บริโภค เนื่องจากไม่สามารถเลี่ยงต้นทุนต่างๆ ได้ อีกแนวทางหนึ่งที่เอสเอ็มอีพยายามปรับตัว อาทิ การลดใช้พลังงาน ทั้งประหยัดการใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแอลอีดี หันไปใช้พลังงานทดแทน ซึ่งแต่ละกิจการก็ใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน กิจการที่ใช้ไฟฟ้ามากจะอยู่ในภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมจะได้รับผล
กระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคการค้าส่งค้าปลีก และภาคบริการ
จากนี้ต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลว่า จะฟังเสียงสะท้อนและนำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือจะให้คนไทยท่องคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน!!