เก็บภาษีอี-เซอร์วิส ปีแรกทะลุเป้า แตะหมื่นล้าน

เก็บภาษีอี-เซอร์วิส ปีแรกทะลุเป้า แตะหมื่นล้าน

ปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้มาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ รายได้จากภาษีอากร ที่ใช้ในการประมาณการรายได้ในการคำนวณงบประมาณประจำปี โดยหน่วยงานสำคัญ คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร

และอีกส่วนคือ รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร เช่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ รายได้จากกรมธนารักษ์ เป็นต้น

กรมสรรพากร ถือเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีในแต่ละปีมากที่สุด โดยมีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์

ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ได้ประมาณการในเอกสารงบประมาณ ไว้ว่า กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ทั้งปี อยู่ที่ 1,876,100 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 2,885,700 ล้านบาท

Advertisement

รายได้ของกรมสรรพากรใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 หรือเดือนตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 สามารถจัดเก็บได้ 701,631 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า 106,226 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.8% และมีรายได้จริงสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 84,735 ล้านบาท หรือสูงกว่า 13.7% เนื่องจากการจัดเก็บรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของการนำเข้า ราคาน้ำมันดิบดูไบ รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้รายได้สุทธิของรัฐบาล ใน 5 เดือนแรกของปีงบ 2565 จัดเก็บได้ที่ 911,661 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 46,942 ล้านบาท คิดเป็นสูงกว่า 5.4% และจัดเก็บรายได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 59,777 ล้านบาท หรือ 7.0%

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจนโยบายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) เช่น บริการโฆษณาออนไลน์ บริการขายสินค้าออนไลน์ บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง เป็นต้น ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 4.45 หมื่นล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 5 เดือน หรือเริ่มเดือนภาษีกันยายน 2564 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2565 รวมเป็นเงิน 3,120 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 ปีหลังบังคับใช้ จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท สูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้เดิม คาดว่าจะจัดเก็บได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

Advertisement

เรื่องนี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) หรือที่เรียกว่าภาษีอี-เซอร์วิสนั้น ซึ่งมีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ บริการขายสินค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทางที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย ทั้งนี้ กฎหมายภาษีอี-เซอร์วิสนี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ความสำคัญ ภาษี อี-เซอร์วิส นี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 127 ราย

ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแยกตามประเภทแพลตฟอร์มและบริการสะสม 5 เดือน หรือเดือนภาษีกันยายน 2564 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2565

ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565 พบว่า 1.บริการโฆษณาออนไลน์ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 28,013 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,960 ล้านบาท 2.บริการขายสินค้าออนไลน์ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 11,982 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 838 ล้านบาท 3.บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ เป็นต้น มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 4,023 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 281 ล้านบาท 4.บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 367 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 25.67 ล้านบาท และ 5.บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง เป็นต้น มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 182 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 12.79 ล้านบาท ยอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 4.45 หมื่นล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 5 เดือน รวมทั้งสิ้น 3,120 ล้านบาท

“การจัดเก็บภาษี e-Service จากผู้ประกอบการต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2564 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2565 จำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ทำให้คาดได้ว่าภายใน 1 ปี กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท สูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้แต่เดิมว่า จะจัดเก็บได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท” นายเอกนิติกล่าว

นอกจากภาษีนี้ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี อี-เซอร์วิส ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย

อีกทั้งการเก็บภาษี อี-เซอร์วิส จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image