คิดเห็นแชร์ : แนวโน้มสงครามในอนาคต ผ่านมุมมองสงครามไซเบอร์ ระหว่างรัสเซียและยูเครน

คิดเห็นแชร์ : แนวโน้มสงครามในอนาคต ผ่านมุมมองสงครามไซเบอร์ ระหว่างรัสเซียและยูเครน

จวบจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน ที่เกิดสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ภาพข่าวสงครามในช่วงเวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็น การปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบปกติ (Kinetic Warfare) ที่มีการใช้อาวุธทำลายล้างที่มีเทคโนโลยีใหม่ เช่น อากาศยานไร้คนขับ หรือจรวดไฮเปอร์โซนิค โดยการปฏิบัติการทางสงครามไซเบอร์นั้น จะไม่ค่อยเป็นข่าวมากนักและดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงส่วนการสนับสนุนเท่านั้น การดำเนินการในรูปแบบ สงครามไซเบอร์ขนาดใหญ่ (Large-Scale Cyberwarfare) ยังไม่มีปรากฏ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ออกมาทำให้เราสามารถตระหนักรู้ได้ดีว่า การที่จะทำให้ประชาชนในประเทศคู่ขัดแย้งเกิดความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องง่ายดายเป็นอย่างมากการที่ประชาชนตื่นมาในตอนเช้าแล้วพบว่าระบบไฟฟ้า-น้ำประปาขัดข้อง อันเนื่องมาจากปัญหาระบบสารสนเทศในการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีปัญหา บัญชีธนาคารต่างๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมอันเป็นปกติได้ การเดินทางสาธารณะมีปัญหา จากระบบตั๋วโดยสารขัดข้อง รวมทั้งการสร้างข่าวปลอม ข้อมูลเท็จปรากฏอยู่อย่างมากมายในสื่อโซเชียลต่างๆ ล้วนแต่สร้างความสับสนโกลาหลในประเทศคู่ขัดแย้ง

มีมุมมองที่เชื่อว่า มีการทดสอบอาวุธในสงครามไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในยูเครนเพราะโครงสร้างนี้มีความคล้ายกับทางยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ยูเครนมีทรัพยากรจำนวนจำกัดสำหรับต่อต้านการโจมตีไซเบอร์ (ถึงแม้ว่าทางสหรัฐและอังกฤษได้มีการส่งความช่วยเหลือในการป้องกันระบบสารสนเทศในโครงสร้างพื้นฐานไปช่วยไว้ในภายหลัง) อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และประเทศในกลุ่มอียู มีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับทางยูเครน ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ รัสเซียถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอาจมีการโจมตีจากชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน หรือจีน ที่เป็นไปเพื่อการทดสอบอาวุธทางไซเบอร์ที่ตนเองครอบครองอยู่ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้เห็นความเป็นไปได้ ในการใช้สงครามไซเบอร์เป็นสงครามแห่งอนาคต เช่น

⦁ถึงแม้ว่าการฝึกฝนนักรบไซเบอร์จะมีความลำบากและใช้เวลานานเป็นอย่างมาก แต่ว่านักรบเหล่านี้แทบจะไม่มีการสูญเสียในระหว่างสงคราม ยากที่จะพบการบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตระหว่างสงครามเหมือนสงครามปกติ ดังนั้นต้นทุนในการดูแลรักษา และชดเชยนักรบเหล่านี้หลังสงครามแทบจะน้อยมาก

Advertisement

⦁เครื่องมือในการโจมตีทางไซเบอร์หลายอย่างก็ไม่มีค่าใช้จ่าย และถึงแม้จะมีก็ถูกมากเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอาวุธปกติทั้งเครื่องบิน จรวดต่างๆ

⦁ต้นทุนการดำเนินการแทบจะน้อยมากเพราะนักรบเหล่านี้สามารถปฏิบัติการที่ไหนก็ได้ สามารถดำเนินการในตอนกลางวัน และกลับบ้านไปพักผ่อนในเวลากลางคืน ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งค่ายในสมรภูมิการรบ ไม่ต้องมีระบบส่งกำลังบำรุงใหญ่โตใดๆ

⦁การพรางตัว แอบซ่อนเป็นไปได้ง่ายและยากที่จะพบเห็น โดยเหล่านักรบไซเบอร์ก็จะดูเหมือนคนทำงานในออฟฟิศปกติทั่วไป

Advertisement

การโจมตีทางไซเบอร์ต่อยูเครน มีมาก่อนการขัดแย้งครั้งนี้หลายครั้งในอดีต เช่น ในการรุกรานแคว้นไครเมียปี 2015 ในขณะนั้นเชื่อกันว่าเหล่าแฮกเกอร์ชาวรัสเซีย ได้เข้าโจมตีระบบไฟฟ้าของประชาชนในยูเครน 230,000 ครอบครัว และหลังจากนั้นได้ขยายผลไปที่ระบบสารสนเทศของธนาคาร และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก่อนการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Wiper malware ชนิดใหม่ได้เข้าโจมตีองค์กรต่างๆ ของยูเครน รวมทั้งสายการบินต่างๆ หยุดบินอันเนื่องมาจากความกังวลความขัดแย้งที่จะก่อให้เกิดการชะงักงัน ของระบบสารสนเทศควบคุมการบิน นอกจากนี้ในวันเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดของ Sandworm malware มุ่งทำลายระบบ Linux กลุ่มแฮกเกอร์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (คาดว่ามาจากรัสเซีย) ได้เข้าโจมตี Triolan ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ของยูเครน

จากบทเรียนในสงครามความขัดแย้งหนนี้ แสดงให้เห็นว่าแทบเป็นไปได้ยาก ที่จะปกป้องโครงสร้างฐานต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยระบบทุนนิยมการลงทุนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้มักจะถูกมองข้ามและจำกัดงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ การลงทุนที่จะป้องกัน จะต้องมีการได้รับอิทธิพลมาจากภาครัฐ ภายใต้นโยบายและการกำกับดูแล ที่จะคอยกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ และมาตรการรองรับการฟื้นคืนดีให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชนในประเทศ ประเด็นมิใช่เรื่องประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการลดผลกระทบให้น้อยที่สุดได้อย่างไร และความรวดเร็วในการแก้ไขให้กับสู่สภาพเดิม

ในช่วงปีทศวรรษ 60’s ถึง 70’s ทั่วโลกต่างหวาดกลัวต่อความสุ่มเสี่ยงการเกิดสงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ด้วยความโชคดีเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น และขยายต่อมาจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่ได้มีสงครามไซเบอร์ขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ความโชคดีจะยังคงอยู่ตลอดไป แต่เราทุกคนควรที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ควรทำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดในวันที่สงครามความขัดแย้งนี้เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image