‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’เปิดกลยุทธ์ ยกระดับพืชศก.-ยางพารา

‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’เปิดกลยุทธ์ ยกระดับพืชศก.-ยางพารา

‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’เปิดกลยุทธ์

ยกระดับพืชศก.-ยางพารา

หมายเหตุ – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์และทิศทางพืชเศรษฐกิจไทย รวมถึงแนวทางในการดูแล การลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ ในภาวะประเทศไทยเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้นทุนเพาะปลูกและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

วางแผนดันส่งออกทุเรียนแสนล้าน
โดยภาพรวมสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย ขณะนี้ราคาขยับตัวดีขึ้นทั้งหมด อาจเผชิญปัญหาบางช่วงจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบาดหนักในวงกว้าง จนกระทบต่อแรงงานและการขนส่งสินค้า อีกทั้งในต่างประเทศเพิ่มเงื่้อนไขกฎเกณฑ์การตรวจเชื้อโควิดทั้งในตัวบุคคล หีบห่อบรรจุภัณฑ์และตัวสินค้า อาจทำให้เกิดภาวะหยุดชะงักช่วง 2-3 วัน หรือล่าช้ากว่าปกติ 2-3 วัน เป็นปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่ผ่านมาก็ได้รับการแก้ไขทันทีและผ่านไปด้วยดี เช่น กรณีส่งออกผลไม้ จะเจอปัญหาติดการตรวจสอบเข้มงวดกว่าปกติ หรือการปิดด่านชายแดนหรือประเทศผ่านแดน อย่างจีน เราก็ได้เจรจาในการเปิดด่าน ทำให้สินค้าผลไม้ไทยสามารถส่งออกเพิ่มได้ทุกปีแม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

Advertisement

อย่างผลไม้หลักของไทย เช่น ปี 2564 โควิดระบาดหลายช่วงและมีปัญหาต้องรีบแก้ไข แต่การส่งออกทุเรียนก็ยังมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท ปี 2565 คาดว่ามูลค่าก็จะไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท กระทรวงเกษตรวางแผนล่วงหน้าขยายฐานตลาดส่งออก ให้ทูตเกษตรในแต่ละประเทศทั่วโลกรายงานตลอดถึงสถานการณ์ ทั้งเรื่องปัญหาและช่องทางตลาดใหม่ๆ ตอนนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ประมาทไม่ได้ มอบนโยบายให้เข้มงวดต่อมาตรฐานและคุณภาพตามหลักสากล รวมถึงเข้มงวดการป้องกันการแพร่ระบาดป้องกันเชื้อโควิด เราเน้นป้องกันดีกว่าจะตามแก้ไข เพราะอาจเสียหายและใช้เวลานานกว่า

ไลฟ์สดขายผ่านออนไลน์
ในปี 2565 พระเอกส่งออกผลไม้ไทย น่าจะไม่เกินทุเรียน ตอนนี้แซงหน้ายางพาราแล้ว แนวทางดูแลผลไม้จะไม่รอจนผลผลิตออกสู่ตลาดและมีปัญหาแล้วไล่แก้ไข เมื่อผลผลิตล้นตลาดราคาตกต่ำแล้วค่อยเข้าไปแก้ไข จะเน้นวางแผนล่วงหน้า ส่วนทุเรียนและมังคุดจะวางแผนการทำตลาดภายในประเทศและต่างประเทศล่วงหน้า ประสานงานกับแพลตฟอร์มลาซาด้า เป็นตลาดหลักการขายผ่านออนไลน์จะแถลงข่าวภายในเดือนเมษายนนี้ จะมีไปรษณีย์ไทยและเคอรี่เข้ามามีส่วนร่วมคำนวณราคาขนส่งเป็นพิเศษ ใช้สหกรณ์ของเราที่มีอยู่เป็นจุดจำหน่าย ส่งออก และรับประกันสินค้า จะประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการรับซื้อและจัดส่งผลไม้ทั้ง 2 ชนิดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือกลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ติดต่อรับออเดอร์ล่วงหน้า กระทรวงเกษตรรับประกันคุณภาพสินค้า และให้สหกรณ์รวบรวม รับผิดชอบสินค้า ทางขนส่งจะได้รับราคาพิเศษในการขนส่งจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และผู้ให้บริการส่งสินค้าเคอรี่ ได้ดำเนินการวางแผนไว้เรียบร้อย รอเพียงแถลงข่าวทางการเมษายนนี้ พร้อมกันนี้จะไลฟ์สดขายช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จะใช้หลักตลาดการผลิตเป็นการโปรโมตสินค้า ตัดซัพพลายออกจากตลาด ส่วนการส่งออกจะว่าไปตามกระบวนการจะเข้มข้นเรื่องคุณภาพสินค้า โรคติดต่อ ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนแล้ว ถ้าไม่มีคุณภาพไม่ให้ส่งออก หรือถ้ามีการหลอกลวงคุณภาพให้ดำเนินการตามกฎหมายเพราะถือเป็นการทำลายส่วนรวม

ทุเรียนราคาไม่ต่ำกว่ากก.ละ80-100บ.
มีคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบสวนที่ได้ส่งออกต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือมาตรฐาน จีเอพี ผู้รวบรวมและจัดส่งสินค้า (ล้ง) ต้องมีมาตรฐานจีเอ็มพี จะสามารถควบคุมคุณภาพที่กระทรวงขอความร่วมมือจากเจ้าของสวน เพราะกระทรวงเกษตรเข้าไปอำนวยความสะดวก ผลประโยชน์จะตกสู่เกษตรกร ล้งตัวแทน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทรวงได้ประสานกับทางจีน สปป.ลาว เวียดนาม มีช่องทางการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยจะขนส่งทางเครื่องบิน ยกตัวอย่าง เช่น การขนส่งไปญี่ปุ่น กำลังจะแถลงนั้น จะระบุมีปริมาณกี่ตันสามารถขนส่งได้ ลักษณะการแพคจะเป็นการแกะออกเป็นเม็ดแล้วจัดเป็นแพค วิธีนี้สามารถดูคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทาง ส่วนลูกค้าต้องอาศัยความเชื่อใจระหว่างชาวสวน ล้ง และเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับเป้าหมายว่าจะดูดซับผลผลิตได้เท่าใด กำลังให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คำนวณดูอยู่ เช่น สภาอุตสาหกรรม เบื้องต้นคาดหวังว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตัน จะขอตัวเลขชัดเจนอีกครั้ง ตอนนี้ภาคเอกชนกำลังไปรวบรวม ถือว่าเป็นการตัดซัพพลาย (ผลผลิตส่วนเกิน) ออกจากตลาด เน้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงกำลังดูว่าตัวเลขชัดเจนถึงผลผลิตทุเรียนว่าจะออกมาเท่าไหร่ ยังไม่แน่ใจ เพราะทุเรียนออกไม่พร้อมกันทั่วประเทศ เริ่มออกในภาคตะวันออกก่อน เริ่มช่วง พ.ค.-มิ.ย. ตามมาด้วยภาคกลาง และภาคใต้

ด้านราคาทุเรียน พยายามให้ราคาดี ไม่ต่ำกว่า 80-100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาเฉลี่ยถือว่าเกษตรกรอยู่ได้ ถ้าได้ราคามากกว่านั้นจะยิ่งดี อยู่ที่ว่ากระทรวงเกษตรจะส่งเสริมการขายและส่งถึงผู้บริโภคได้แค่ไหน โครงการที่ทำเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภค ใช้การขนส่งออนไลน์ ราคาไม่แพงกว่าท้องตลาด แต่ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยรับประกันคุณภาพ ในแผนไม่เน้นแค่ทุเรียน แต่ผลไม้อื่นด้วย แต่ทุเรียนและมังคุดจะใช้หลัก เพราะตามศาสตร์จีน ถือเป็นหยิน-หยาง ผู้บริโภคนิยมทานคู่กัน เพื่อให้บาลานซ์เกิดความสมดุลในร่างกาย ทั้งคู่ออกช่วงฤดูใกล้เคียงกัน จึงสามารถควบคู่กันได้

จัดมหกรรมศักยภาพยางไทย
ยางพารา ณ วันนี้ สถานการณ์ยังไปได้ดี ช่วงนี้ราคาทรงตัวสูง เนื่องจากผลผลิตออกตลาดช่วงเวลาระหว่างนี้ ลดน้อยลงเพราะปิดการกรีดยาง และบางช่วงต้องหยุดเพราะเรื่องพายุเข้าพื้นที่เพาะปลูก หลักสำคัญคือเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มของยางให้มากที่สุด รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการแปรรูป แม้การแพร่ระบาดของโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่การฟื้นตัวของยานยนต์ทั่วโลกยังส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ทั้งแปรรูปเป็นอุปกรณ์บางส่วน หรือล้อรถ ก็ใช้ยางพาราเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต ก็จะมีผลต่อราคายังดี เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา กระทรวงเกษตรฯได้จัดงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯแห่งนวัตกรรมยางพารา ช่วงวันที่ 8-10 เมษายนนี้ ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทย ส่งน้ำยางดิบเข้าสู่ตลาดโลกปีละประมาณ 4 ล้านตัน และถ้าสามารถแปรรูปให้ได้มูลค่าเพิ่มก่อนจะส่งยางออกจะยิ่งเป็นผลดี เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องผลักดันเมืองอุตสาหกรรมยางพารา หรือนิคมอุตสาหกรรมยางพาราถือว่ามีความสำคัญ ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย คนจะเข้ามาลงทุนก็ต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจต้องฟื้นตัวได้แล้ว

ปักธงเมืองอุตสาหกรรมยางพารา
ส่วนลักษณะลงทุนนั้น เบื้องต้นอาจยังไม่ดึงพันธมิตรประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางโลก อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ผมเชื่อมั่นว่าในส่วนกลางยางพารา เราสามารถดำเนินการได้เอง แต่จะเป็นการร่วมมือรัฐกับภาคเอกชนไทยเป็นหลัก ทางส่วนของมาเลเซีย อินโดนีเซีย เรามีพันธสัญญากันอยู่แล้วเรื่องเจรจาการค้า หรืออุปสรรคที่ต้องจับมือร่วมกันในการทำงาน นั่นคงจะเป็นภาพรวม แต่นี่เป็นการลงทุนภายในประเทศ คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของประเทศเราก่อน การจะเกิดอุตสาหกรรมเมืองยาง พร้อมทั้งแหล่งความรู้ การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นองค์ความรู้ระดับโลก กำลังปูพื้นร่วมมือกันหลายภาคส่วน ส่วนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้วางโครงไว้แล้ว เมื่อมีความพร้อมเดินหน้าได้เลย บอร์ด กยท.ก็เห็นด้วย ถ้าเราสามารถทำได้ เหมือนเราเป็นส่วนกลางของยางได้เลย ถ้าเราสามารถทำได้อาจจะทำในรูปของเมืองยางพารา หรือนิคมอุตสาหกรรม แนวคิดนี้ไทยเราเน้น ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีใครประกาศเรื่องนี้ มีการประชุมทุกปีอยู่แล้ว ส่วนวันที่ 10 เมษายนเป็นวันยางไทย ไม่ได้มีอะไรพิเศษ

มุ่งส่งเสริมปรับปรุงพันธุ์ยาง
สามขาสามประเทศกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกยางโลก ในตอนนี้เหมือนจะมีหลายประเทศเพิ่มขึ้นมา อย่างเวียดนามก็ส่งออกแล้ว มีหลายประเทศต้องพูดคุยกัน แต่อยู่ที่ซัพพลายของยางพารา ถ้ายางพาราอยู่ในปริมาณสมดุล ราคาจะเดินไปข้างหน้า ถ้าราคายางพาราอยู่ในสถานการณ์ไม่พอ ซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ราคาก็พุ่ง ถ้าวันไหนซัพพลายมากกว่าดีมานด์ สต๊อกมากขึ้น นั่นเป็นธรรมชาติราคาจะต้องถูกกดลงมา แต่ ณ วันนี้ สต๊อกยางลดลงทุกปี ถึงบอกว่าเป็นผลดี เพราะเรามุ่งส่งเสริมปรับปรุงพันธุ์ยาง ลดพื้นที่ปลูกยางหันปลูกพืชที่มีรายได้ดีเป็นทางเลือก เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลดพื้นที่แต่ปริมาณยางไม่ลด จะใช้เทคโนนวัตกรรมมาช่วย เพื่อปริมาณและมูลค่าเพิ่ม เพื่อจะให้นำพื้นที่ไปทำประโยชน์อย่างอื่น เราจะปรับปรุงไปเรื่อยๆ

ทั่วโลกมั่นใจคุณภาพยางไทย
เรื่องคุณภาพยาง น้ำยางสวนยางเราดีที่สุด คุณภาพยางของไทยทั่วโลกให้ความมั่นใจ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศมาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศเรา ถ้ามองระยะกลาง แนวโน้มยางยังไปได้ ส่วนระยะยาวต้องดูเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม แต่เราพยายามติดตามอย่างใกล้ชิดและเข้าไปดูอยู่ตลอด ถ้าสมมุติว่าเราสามารถใช้วัตถุดิบยางพาราภายในประเทศมากแค่ไหน ก็เป็นผลดีกับยางพารามากแค่นั้น วันนี้หน่วยงานในกระทรวงเกษตร อย่างกรมชลประทาน ก็ให้ดูว่านำไปใช้ทำอะไรได้ และท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานนำยางพาราไปเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ จะทำก่อสร้าง หรืออะไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเรื่องวัตถุดิบภายในประเทศ ตอนนี้เราส่งออกยางดิบประมาณ 4 ล้านตัน อีกส่วนมีการใช้ในประเทศ การแปรรูปก็ใช้ภายในประเทศ

ประสานหน่วยงานโปรโมตผลไม้ไทย
ตัวเลขส่งออกยางคร่าวๆ คิดว่าน่าจะโดนทุเรียนแซง ย้อนดูมูลค่าส่งออกทุเรียนจากผมเข้ามาดูแลกระทรวงเกษตรมูลค่าแค่ 1-2 หมื่นล้านบาท ปีถัดมาเพิ่มเป็น 3 หมื่น 7 หมื่น จนถึงแสนในปีก่อน พบการเติบโตแบบทวีคูณ จาก 3 หมื่นไปจนถึง 1 แสน ปีนี้ผมต้องยืนตัวเลขแสนขึ้น พยายามจะทำให้ได้เพื่อรักษาสถิติไว้ส่วนจะทำเพิ่มได้ ถือเป็นการทำเต็มที่ อีกอย่างเราเน้นเรื่องการบริโภคภายในประเทศด้วย ทั้งสองส่วนเลย
หลายคนบอกทุเรียนขายดี จนปีที่แล้วมีข่าวว่าคนไทยอาจจะไม่ได้กินทุเรียน หรือกินทุเรียนในราคาแพง ผมว่าไม่ถูกทั้งหมด เพราะทุเรียนมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี คนปลูกเพิ่มเมื่อเห็นว่าราคาดี แล้วทุเรียนเป็นเหมือนไม้ยืนต้น ปลูกปีหน้าก็ออกใหม่ ไม่จำเป็นต้องปลูกใหม่ ถ้าเป็นต้น 3 ปี 5 ปี 7 ปี ถึง 10 ปี จะเพิ่มขึ้นทุกปี ปริมาณจะเพิ่มขึ้นๆ จะเป็นปัญหาหลักต้องหาตลาดเพิ่มขึ้น ปีนี้เรามองไปที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้สั่งให้ปลัดกระทรวง ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ว่าถ้าในต่างประเทศจัดบูธออกงานต่างๆ ให้โปรโมตผลไม้ไทยด้วย ให้ทำควบคู่กันไป และให้ช่วยเป็นผู้ประสานงาน เพราะเรามีทูตเกษตรไม่ครบทุกประเทศ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ เราจะหาตลาดผลไม้เพิ่มขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ ก็ยังให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนเกษตรกร เช่น การหาแหล่งวัตถุดิบพืชเพื่อผสมอาหารสัตว์ อาจนำเข้าชั่วคราว 3 เดือน หรือ 6 เดือน หากในประเทศหาไม่ได้ หรือแม้แต่ลดภาษีชั่วคราวเพื่อลดภาระต้นทุนและสินค้าในประเทศเพียงพอ ทุกฝ่ายจะเข้าใจดีในเรื่องนี้ อะไรมีปัญหาก็แก้เฉพาะหน้าได้ เมื่อปัญหาคลี่คลาย ก็กลับไปลดนำเข้า หรือเก็บภาษีเหมือนเดิม

สร้างดาวเด่น‘สมุนไพรไทย’สู่โลก
ในวันนี้พืชทางเลือกเราก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ประการแรก 1.เริ่มให้ดูเรื่องของพืชที่จะนำมาทำอาหารสัตว์ ประการที่ 2.พืชทางเลือกเป็นสมุนไพรไทยเรามีหลายตัวยังไม่นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น กระท่อม มีการส่งเสริมการปลูก มีการปลดล็อก ผมคุยกับหลายฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมกระท่อม ผู้ปลูกกระท่อมไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ คุยกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะนำงานวิจัยเรื่องการสกัดสารในใบกระท่อม เป็นสารที่มีคุณสมบัติเดียวกับที่เอาไปทำมอร์ฟีน มีมูลค่าทางตลาดโลกหลายแสนล้านบาท หากเราสามารถทำตรงนี้ได้ จะสามารถส่งเสริมให้เป็นพืชทางเลือกอีกทางได้ การวิจัยทำอยู่แล้ว ขณะนี้มีหลายประเทศทำ ทางอินโดนีเซียส่งออกได้หลายหมื่นล้าน เราก็น่าจะสามารถไปแชร์ตลาดร่วมกับเขาได้ แต่ว่าเราต้องมีความพร้อม

นอกจากกระท่อมแล้ว พืชสมุนไพรดาวเด่นและอยู่ที่งานวิจัยมีอีกมาก คิดว่าสมุนไพรเรามีสารมีคุณค่าหลายตัว มีสมุนไพรหลายพันชนิด ผมเริ่มให้หน่วยงานทำการศึกษา หรือให้ไปต่อยอดจากงานวิจัยว่ามีอะไรนำไปทำได้ วันนี้มีเอกชนนำเอาสมุนไพรที่มีคุณค่าไปทำงานวิจัยแล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ตรงนี้เราอาจจะเข้าไปเสริม ถือเป็นพืชทางเลือกอีกทาง แม้แต่ดอกไม้ไทยเรามีชื่อเสียง เพียงแต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด ทำให้ส่งออกหยุดชะงัก ส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ยาก ต้องหาทางจำหน่ายภายในประเทศมากที่สุด ถ้าปรับรูปแบบต่างๆ ผมคิดว่ายังไปได้ เพราะดอกไม้ไทยยังสู้ตลาดโลกได้ ตอนนี้ก็เริ่มความพร้อมเรื่องการเป็นเจ้าภาพพืชสวนโลกของไทยในปี 2569 พร้อมมีแผนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ที่จะจัดงานพืชสวนโลก สำหรับไทย พืชสวนโลก จะโชว์ความเด่นของดอกไม้ พืชพรรณต่างๆ ทั้งผักท้องถิ่นพร้อมกับต้องการขายวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอื่น คิดว่าจะได้ไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้ได้เริ่มโดยให้กรมวิชาการขึ้นไปดูพื้นที่ ความพร้อม ความต้องการพื้นที่

รัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุนเต็มที่เพราะถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศ และความว่าวันนั้นสถานการณ์ระบาดของโควิดเบาบางลง ผมว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 3.5-4 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ น่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดช่วงจัดงานหลายหมื่นล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image