สรท.คาดส่งออกปี’65 มีโอกาสโตแตะ 5% วอนรัฐช่วยผู้ประกอบการ-ปปช. ลดค่าไฟยาวถึงสิ้นปีนี้

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

สรท.คาดส่งออกปี’65 มีโอกาสโตแตะ 5% พร้อมวอนรัฐช่วยผู้ประกอบการ-ปปช. ลดค่าไฟยาวถึงสิ้นปีนี้

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 23,483 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 770,819 ล้านบาท ขยายตัว 28.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 776,612 ล้านบาท ขยายตัว 28.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เกินดุลเท่ากับ 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับขาดดุล 5,793 ล้านบาท

นายชัยชาญกล่าวว่า สรท.ได้ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงทรงตังอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สรท.คาดว่าการส่งออกของไทย ปี 2565 จะเติบโตได้ที่ 5%

นายชัยชาญกล่าวว่า การส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ 8% เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2/2565 เติบโตที่ 2-4%

“ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ อาทิ สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย และราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ทรงตัวในระดับสูง แม้จะส่งผลให้หมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น ในทางกลับกันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภท รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก กระทบเป็นห่วงโซ่มายังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก เป็นต้น

Advertisement

“นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าไฟ อยากให้รัฐบาลขยายเวลาการช่วยเหลือออกไปอีก อย่างน้อยควรขยายไปถึงไตรมาส 3/2565 หรือถ้าจะเป็นการดีต่อทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ คือขยายมาตรการไปถึงสิ้นปี 2565 นี้” นายชัยชาญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image