เชื่อมั่น ปชช.-ธุรกิจ มี.ค.ดิ่งเหว ผวาสงคราม-น้ำมัน-ของแพง ม.หอค้าไทย แนะรัฐปลดล็อกกู้วิกฤต

เชื่อมั่น ปชช.-ธุรกิจ มี.ค.ดิ่งเหว ผวาสงคราม-น้ำมัน-ของแพง ม.หอค้าไทย แนะรัฐปลดล็อกกู้วิกฤต

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) เดือนมีนาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลง โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หรือจากระดับ 43.3 เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 42.0 ขณะที่ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงต่อเนื่องและอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 4 เดือน โดยค่าดัชนีจากระดับ 36.1 มาอยู่ที่ 35.5

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นเดือนมีนาคม คือประชาชนและนักธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น จนกระทบต่อต้นทุนการผลิต และเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งในธุรกิจในภาคตะวันออกโอดหนักเรื่องรับมือต้นทุนไม่ไหวและปลดพนักงานบ้างส่วน

ทั้งนี้ แนวโน้มความเชื่อมั่นประชาชนและนักธุรกิจยังขาลงต่อเนื่องหรือไม่ ต้องดูสัญญาณในเดือนเมษายน ซึ่งความกังวลต่อโอมิครอน และความรุนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งสัญญาณลดลงแล้ว แต่ยังเชื่อความวิตกเรื่องค่าครองชีพสูง และการแบกรับต้นทุนผลิตไม่ไหว อาจส่งต่อความเชื่อมั่นเดือนเมษายนลดลงแต่ในอัตราน้อยลง ประกอบกับความชัดเจนของนโยบายรัฐต่อการลดอุปสรรคการเปิดตลาด และการประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

ซึ่งคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงในเดือนมิถุนายน ทำให้การจัดกิจกรรมและการกลับมาเปิดอีกครั้งของธุรกิจกลางคืน ส่วนนี้มีเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาทต่อเดือน รวมถึงรัฐเติมเงินเข้าระบบผ่านมาตรการรัฐ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงส่งหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2565

Advertisement
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“หลังสงกรานต์กังวลเรื่องจำนวนติดเชื้อโอมิครอนสูง อาจถึง 5 หมื่นถึง 1 แสนราย เชื่อว่ารัฐไม่น่าจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ในภาครวม เพราะเห็นแล้วว่าธุรกิจและเศรษฐกิจจะเสียหาย เพียงล็อกดาวน์ 1 เดือน ต้องใช้เวลาฟื้นตัวเท่าเดิมถึง 3 เดือน สร้างความเสียหายถึง 8 แสนล้านบาท กลับกันหากประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น 1 เดือน

ทำให้การทำธุรกิจและใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ บนความเข้มงวดการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ จะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.1-0.2% จากที่ศูนย์พยากรณ์ติดตามสถานการณ์เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าหลังไตรมาส 2 ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ขยายตัวได้ 3.5%” นายธนวรรธน์กล่าว

ดังนั้น ข้อเสนอเอกชนต่อรัฐบาล คือ ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และประชาชน ต่อเนื่อง รัฐเร่งช่วยลดต้นทุนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน และรัสเซีย รวมทั้งระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเร่งเปิดประเทศลดขั้นตอนในการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

Advertisement

เร่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นและให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ลงทุนในสิ่งใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

ข่าวน่าสนใจอื่น :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image