เจ้าของสวนยกบ้านมางานยางพารา นครฯ ผู้ว่ากยท.ปลื้มเกษตรกรเนืองแน่น เวิร์กชอปติวเข้มเลี้ยงไก่

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 8 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงบ่ายวันแรกของงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ว่า มีประชาชนได้เดินทางมารวมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พาครอบครัว เพื่อนฝูง และคนในหมู่บ้านมาร่วมงาน

นางสุมนฑา ฉิมพาลี เกษตรกรชาวสวนยางพารา เจ้าของสวนยางขนาดกว่า 20 ไร่ ใน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้เดินทางมางานโดยชักชวนคนในหมู่บ้านมาด้วยกัน ซึ่งตนก็ได้พาสามีและลูกชายมาร่วมงานด้วย โดยตั้งใจมาฟังงานเสวนาที่จัดภายในงาน เพื่อได้รับรู้ถึงสถานการณ์ราคายาง ว่าต้องมีการบริหารจัดการภายในสวนยางพาราของตนเองอย่างไร อีกทั้งภายในงานยังให้ความรู้แนะนำการใช้ปุ๋ยทางการเกษตร เครื่องมือทางการเกษตร

ด้าน กรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเสม็ดจวนพัฒนา จำกัด รายหนึ่ง กล่าวว่า งานนี้ทำให้ได้รับข้อมูลวิชาการดี ได้รับสาระความรู้เพิ่มขึ้น ได้ทราบถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งเป็นประโยชน์กับเกษตรกรโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดตอนนี้

“ราคายางตอนนี้ดีกว่าแต่ก่อน ซึ่งตนได้ขายน้ำยางสดกับทางสหกรณ์ฯ เพราะได้ราคาดีกว่าขายกับพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ยังได้รับเงินปันผลกำไรในช่วงสิ้นปีอีกด้วย” กรรมการสหกรณ์ฯ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานได้มีการจัด เวิร์กชอป ‘การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยาง’ โดย ดร.ณปภัช ช่วยชูหนู อาจารย์ประจำหลักสูตรสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย

ดร.ณปภัช กล่าวว่า ต้นยางพาราอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป ทำให้มีร่มเงา จึงไม่มีวัชพืชในสวนยาง เหมาะกับการขุดบ่อเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยางพารา โดยไม่รบกวนการผลิต ไก่พื้นเมืองเป็นแหล่งอาหารโปรตีน นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารแล้ว ยังสามารถขายพันธุ์ไก่และเนื้อไก่เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากไก่พื้นเมืองมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ มีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำส่งผลให้ไก่พื้นเมืองเป็นที่ต้องการของตลาดของคนรักสุขภาพ โดยราคาไก่พื้นเมืองสูงกว่าไก่เนื้อประมาณ 3 เท่าตัว จึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจสำหรับเลี้ยงเพิ่มรายได้ในสวนยาง

Advertisement

ด้านตลาดไก่พื้นเมืองในปัจจุบัน ดร.ณปภัช กล่าวว่า ตลาดต้องการไก่อายุ 12-16 สัปดาห์ น้ำหนักตัวเฉลี่ย 1.2-1.6 ก.ก. ซึ่งเป็นช่วงอายุและน้ำหนักที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับ ไก่มีชีวิต ราคาซื้อขายอยู่ที่ก.ก.ละ 80-90 บาท ส่วนไก่ชำแหละ ราคาประมาณ 130-160 บาท/ก.ก. ไก่พื้นเมืองขายได้ราคาสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ ปีใหม่ ฯลฯ เกษตรกรจึงควรวางแผนการผลิตให้ไก่สามารถจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดการประกวดยางแผ่นดิบคุณภาพดี โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ นายทวีศักดิ์ แซ่ลิ้ม พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท โดยทางคณะกรรมการได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น

ในส่วนของบูธการจัดจำหน่ายสินค้ายางพาราของชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ จำกัด (SRICF) โดย นายนพดล ศรีใย หัวหน้าฝ่ายผลิต กล่าวว่า SRICF เป็นการรวมกลุ่มสหกรณ์ภาคใต้ตอนบนจำนวน 15 สหกรณ์ เพื่อผลิตและแปรรูปยางพารา ซึ่งได้ผลิตเสาหลักนำทางยาง และแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีตมาก่อน แต่ตอนนี้ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เมื่อต้นปีนี้อย่าง เสาล้มลุก และกรวยตั้ง ที่ทำมาจากยางพารา ซึ่งมีคุณสมบัติดีกว่าพลาสติก ที่สามารถคืนตัวได้ แตกหักยาก แต่ราคาจะสูงกว่าพลาสติก เพราะเราอยากกระตุ้นให้ราคายางสูงขึ้น และช่วยเกษตรกรภายในกลุ่มด้วย

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมชมบรรยากาศงาน ตั้งแต่ช่วงเช้า กล่าวว่า ประทับใจกับความน่าสนใจของงาน โดยจากที่สังเกตบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีเกษตรกรจากทั่วประเทศมาร่วมงานไม่ขาดสาย มั่นใจว่าในช่วงสุดสัปดาห์จะมีผู้มาร่วมงานเยอะกว่าเดิม โดยงานนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจด้วยการแสดงนวัตกรรมการจัดการยางซึ่งมีผลต่อราคายาง ต่อรายได้ของเกษตรกร เช่น การดูแลมาตรฐาน การจัดการผลิตภัณฑ์ การยืดอายุการจัดเก็บ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการจัดการยางในอนาคตต่อไป

“ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องชาวนครศรีธรรมราช รวมถึงพี่น้องชาวใต้ในจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 9-10 เมษายนนี้ เพราะเป็นงานใหญ่เกี่ยวกับยางพาราครั้งแรกของภาคใต้ มีกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสวนยางมากมาย หากใครสะดวกก็ไม่อยากให้พลาดสาระประโยชน์จากงานนี้” นายณกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image