เช็กเลย! เกณฑ์ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เลี่ยงเก็บภาษีที่ดินแพง

เช็กเลย! 51 พืช 9 สัตว์ ปลูกกี่ต้น เลี้ยงกี่ตัว ถึงจะเข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรและเสียภาษีถูกสุด

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการประกาศบังคับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 วันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม 2563

แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีลง 90% โดยจัดเก็บเพียง 10% ตั้งแต่ปีแรก 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564

ส่งผลต่อกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ลดลงปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัดจะชดเชยให้ท้องถิ่น

จึงเป็นที่มาปี 2565 รัฐบาลประกาศเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% เป็นปีแรก แต่การจัดเก็บยังคงเก็บอัตราเดิมตามฐานของปี 2563-2564 ไปถึงปี 2566

Advertisement

ได้แก่ 1.ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% 3.ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7% ซึ่งขณะนี้ท้องถิ่นเริ่มทยอยแจ้งให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเสียภาษีแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนานยนนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมามีผู้ถือครองที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทำเลย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ มีการนำที่ดินมาแปลงสภาพที่ดินเพื่อให้เข้าเกณฑ์ ”ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม 10 เท่า เช่น จากปีที่แล้วเคยจ่ายหลักหมื่นบาท จะเป็นหลักแสนบาทในทันที โดยมีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้ไปถึงปีหน้าน่าจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รับกับอัตราใหม่ในปี 2567 ที่กระทรวงการคลังจะทบทวนอัตราอีกครั้ง เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจะนำที่ดินมาพัฒนาเป็นเกษตรกรรมนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งกำหนดพืช 51 ชนิด และสัตว์อีก 9 ชนิด ถึงจะถือว่าเป็นการใช้พื้นที่เกษตรกรรม

Advertisement

พลิกดูประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การประกอบการเกษตรที่เป็นการทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจ แบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมที่มีชนิดพืชดังต่อไปนี้จะต้องประกอบการเกษตร ให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม

สำหรับพืช 51 ชนิด และอัตราขั้นต่ำการปลูกที่กำหนด ได้แก่ 1.กล้วยหอม 200 ต้น/ไร่ 2.กล้วยไข่ 200 ต้น/ไร่ 3.กล้วยน้ำว้า 200 ต้น/ไร่ 4.กระท้อนเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ทับทิม 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ปุยฝ้าย 25 ต้น/ไร่ 5.กาแฟ 170 ต้น/ไร่ พันธุ์โรบัสต้า 170 ต้น/ไร่ พันธุ์อราบิก้า 533 ต้น/ไร่ 6.กานพลู 20 ต้น/ไร่ 7.กระวาน 100 ต้น/ไร่

8.โกโก้ 150-170 ต้น/ไร่ 9.ขนุน 25 ต้น/ไร่ 10.เงาะ 20 ต้น/ไร่ 11.จำปาดะ 25 ต้น/ไร่ 12.จันทร์เทศ 25 ต้น/ไร่ 13.ชมพู่ 45 ต้น/ไร่ 14.ทุเรียน 20 ต้น/ไร่ 15.ท้อ 45 ต้น/ไร่ 16.น้อยหน่า 170 ต้น/ไร่ 17.นุ่น 25 ต้น/ไร่ 18.บ๊วย 45 ต้น/ไร่ 19.ปาล์มน้ำมัน 22 ต้น/ไร่ 20.ฝรั่ง 45 ต้น/ไร่ 21.พุทรา 80 ต้น/ไร่

22.แพสชั่นฟรุ๊ต 400 ต้น/ไร่ 23.พริกไทย 400 ต้น/ไร่ 24.พลู 100 ต้น/ไร่ 25.มะม่วง 20 ต้น/ไร่ 26.มะพร้าวแก่ 20 ต้น/ไร่ 27.มะพร้าวอ่อน 20 ต้น/ไร่  28.มะม่วงหิมพานต์ 45 ต้น/ไร่ 29.มะละกอ (ยกร่อง) 100 ต้น/ไร่ (ไม่ยกร่อง) 175 ต้น/ไร่ 30.มะนาว 50 ต้น/ไร่ 31.มะปราง 25 ต้น/ไร่ 32.มะขามเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่ 33.มะขามหวาน 25 ต้น/ไร่ 34.มังคุด 16 ต้น/ไร่

35.ยางพารา 80 ต้น/ไร่ 36.ลิ้นจี่ 20 ต้น/ไร่ 37.ลำไย 20 ต้น/ไร่ 38.ละมุด 45 ต้น/ไร่ 39.ลางสาด 45 ต้น/ไร่ 40.ลองกอง 45 ต้น/ไร่ 41.ส้มโอ 45 ต้น/ไร่ 42.ส้มโอเกลี้ยง 45 ต้น/ไร่ 43.ส้มตรา 45 ต้น/ไร่ 44.ส้มเขียวหวาน 45 ต้น/ไร่ 45.ส้มจุก 45 ต้น/ไร่ 46.สตรอเบอรี่ 10,000 ต้น/ไร่ 47.สาลี่ 45 ต้น/ไร่ 48.สะตอ 25 ต้น/ไร่ 49.หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น/ไร่ 50.หมาก (ยกร่อง) 100-170 ต้น/ไร่ และ 51. พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ 100 ต้น/ไร่

ส่วนสัตว์ 9 ชนิด ได้แก่ 1.โค ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่ 2.กระบือโตเต็มวัย ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่ 3.แพะ-แกะโตเต็มวัย ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อไร่ 4.สุกร พ่อพันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว แม่พันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรอนุบาล ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรขุน ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว คอกคลอด ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว ซองอุ้มท้อง ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว

5.สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์) 6.กวาง 2 ไร่ต่อตัว 7.หมูป่า 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน) 0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย) 8.ผึ้ง บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ำหวานดอกไม้ที่สมดุล กับจำนวนรังผึ้ง 9.จิ้งหรีด บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสม กับขนาดและจำนวนบ่อ

ทั้งนี้ในกรณีการประกอบการเกษตรที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มี ลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม

1.พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะอื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

2.ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบำบัดน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image