โควิดกระทบชีวิต ‘ชาวสวนยาง’ วงเสวนาแนะพลิกสู่โอกาส ชี้ช่องปรับตัว ใช้นวัตกรรมสู้

โควิดกระทบชีวิต ‘ชาวสวนยาง’ วงเสวนาแนะพลิกสู่โอกาส ชี้ช่องปรับตัว ใช้นวัตกรรมสู้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ภายในงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา มีกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อเสวนา ‘วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร ผอ.การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนกลาง นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ระดับประเทศ นางเบญจมล ไพรพฤกษ์ ตัวแทนคนกรีดยางจาก จ.พัทลุง นายพูลธวัช เล่าประวัติชัย กรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ระดับประเทศ ดำเนินรายการโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

นายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร ผอ.กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า โรคโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวเข้าสู่การ Work From Home ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงานราชการ และกับพี่น้องชาวสวนยางยากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยให้ชาวสวนยางที่มีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร้รอยต่อ

“กยท. พัฒนาระบบการให้บริการข่าวสารข้อมูลเพื่อพี่น้องเกษตรกร มีแอพพลิเคชั่นที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ทั้ง ‘Rubber Way’ และ ‘Rubbee’ ใช้เพื่อประเมินว่าสวนยางของพี่น้องเกษตรกร รายงานได้เองว่าสวนยางของเรามีการจัดการยังไง เพื่อให้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ จะสามารถช่วยขับเคลื่อนและผลักดันคุณภาพชีวิตให้ดี ตามแนวทางและนโยบายการควบคุมโรคของภาครัฐได้” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

Advertisement

นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ระดับประเทศ กล่าวว่า ปัญหาของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทั้งแรงงานกรีดยาง และแรงงานที่ทำงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้เสียรายได้ที่ควรได้ไม่น้อย ในทางกลับกันน่าสนใจว่าพอการแปรรูปไม่มาก ยางพาราก็ขาดตลาดและทำให้ราคาดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งก็เป็นโอกาสในวิกฤต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากับอาชีพอื่นๆ ยากที่จะหาช่องทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ รวมถึงลูกหลานนักเรียนนักศึกษาของชาวสวนทุกคน

“เมื่อมีวิกฤตโควิด ทำให้เราต้องอยู่บ้านมากขึ้น แต่ข้อเสียทำให้มีรายได้ลดลง โดยเฉพาะลูกหลานที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานพาร์ทไทม์ ตามร้านอาหารต่างๆ” นายถนอมเกียรติกล่าว

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะตลาดมีความต้องการใช้ถุงมือยาง ที่ทำจากยางพารา ทำให้ราคายางดีราคาไม่ตก แต่ก็มีความเป็นห่วงว่าหลังจากโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะทำให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง จะกระทบต่อเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นทุกคนต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อได้รับผลประโยชน์อย่างยั่งยืน

Advertisement

“ถ้ายังทำสวนยางแบบเชิงเดี่ยว ชาวสวนยางจะไม่มีรายได้รายเดือน โดยสวนยางยั่งยืนที่ กยท.กำลังผลักดัน ช่วยให้ลดค่าใช้จ่าย เพราะในพื้นที่สามารถสร้างปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตได้ ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ขายพืชผักผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 บาท/ไร่/เดือน พร้อมกับต้องมีการออมเงินด้วยการปลูกต้นไม้ เช่น ไม้แดง ไม้พะยูง ไว้ตัดไม้ขายได้ในอนาคต” นายสุนทรกล่าว

นางเบญจมล ไพรพฤกษ์ ตัวแทนคนกรีดยางจาก จ.พัทลุง กล่าวว่า ชาวสวนต้องสวมหน้ากากอนามัยเข้าไปกรีดยาง ทั้งที่ในสวนยางเป็นพื้นที่กว้าง และมีอากาศบริสุทธิ์ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวสวนยางไม่สามารถรอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้อย่างเดียว แต่ต้องจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบด้วย

“ตั้งเป็นสโลแกนไว้เลย ใช้สวนยางเป็นเซเว่น เป็นมหาวิทยาลัย เป็นโรงพยาบาล เป็นสวนยางที่เราสามารถพึ่งพาได้ทุกเรื่อง ช่วยให้เราลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารหรูๆ เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากของข้างบ้าน ผักหวานในป่ายาง แกงเลียง ไข่มดแดงมากินได้ในสวนของเราเอง” นางเบญจมล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image