‘ผักเหมียง’ พารวย! แนะปลูกแซม ‘สวนยาง’ สร้างรายได้เหยียบแสนต่อเดือน

‘ผักเหมียง’ พารวย! แนะปลูกแซม ‘สวนยาง’ สร้างรายได้เหยียบแสนต่อเดือน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ใน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา มีกิจกรรมเวิร์กช็อป “ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง” โดย นายสุรศักดิ์ ชูทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพืชสวนประดับและภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงสูง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงพยายามปรับแนวคิดเกษตรกรจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลี้ยงสัตว์และมีพืชอื่นปลูกร่วมและปลูกแซมในสวนยางพารา ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทั้งพืชและสัตว์หมุนเวียนเข้าตลาดได้ตลอดปี ทำให้ชีวิตมีความมั่งคงและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว นิยมปลูกต้นยางพาราในระยะห่างระหว่างต้น 7เมตร ระยะห่างจากแถว 3 เมตร หรือ 76 ต้น/ไร่ แต่การปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ต้องปรับสัดส่วนการปลูกต้นยางเป็นระยะ 9 หรือ 12 เมตร X3 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้มากขึ้น แปลงปลูกต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปีสามารถปลูกพืชแซมยาง ในกลุ่มพืชผัก สับปะรด ข้าวไร่ บอนสี ฯลฯ ส่วนต้นยางที่อายุ 3 ปีขึ้นไป ภายใต้ร่มเงายาง สามารถปลูกขิงข่า สละอินโดฯ เป็นพืชร่วมยางได้ รวมทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แพะ แกะ และวัว ในสวนยางได้อย่างสบาย

Advertisement

“เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้จากการขายน้ำยาง เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทต่อไร่ แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง จะมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรรายหนึ่งมีพื้นที่ปลูกยาง 3-4 ไร่ ปลูกผักเหมียง หรือใบเหลียงเป็นพืชร่วมยาง ถ้าเก็บผักเหมียงขาย ก.ก.ละ 80 บาท ได้ทุกสัปดาห์ จะมีรายได้ต่อเดือนกว่าแสนบาท จึงอยากชักชวน เกษตรกรชาวสวนยางใช้พื้นที่ว่างในสวนยางให้เกิดประโยชน์โดยนำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน และเป็นรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวอีกทางหนึ่ง” นายสุรศักดิ์กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image