จอดป้ายประชาชื่น : ถึงคิว…ขายพ่วง

จอดป้ายประชาชื่น : ถึงคิว...ขายพ่วง ขณะนี้ได้ก้าวเข้าไตรมาส 2 ปี 2565

ขณะนี้ได้ก้าวเข้าไตรมาส 2 ปี 2565 แล้ว แต่เสียงบ่นจากประชาชนผู้บริโภคทั่วไป และพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อยตามริมทางถนนยังได้รับผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ ผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยขึ้นราคา

ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ทำการสำรวจภาวะค่าครองชีพและมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต ได้ข้อสังเกตว่า อันดับความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงเริ่มเปลี่ยนไป ช่วงไตรมาสแรกของปี ความกังวลและมองผลกระทบด้านต่างๆ จากปัจจัยภายนอก อันดับแรกคือ การโจมตีและผลกระทบต่อเนื่องจาก “สงครามรัสเซียกับยูเครน” ส่งผลวงกว้างทันทีต่อราคาน้ำมัน และตลาดเงินตลาดทุน ไฟสงครามยิ่งนานวัน ผลกระทบก็ลุกลามไปถึงเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า และผลกระทบต้นทุนสูงขึ้นๆ สะสมจากภาวะน้ำมันแพงและสินค้าต่างๆ แพงขึ้นๆ ตามด้วยปัจจัยรอง การแพร่ระบาดของโควิดที่ทุกคนยังต้องเว้นระยะห่างและเข้มตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและรายได้ถอยลงต่อเนื่อง และนานวันเข้าแรงสะสมของ 2 ปัจจัยแรกกลายเป็นปัจจัยอันดับสาม เมื่อผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า

แต่พอเข้าเมษายนเดือนแรกของไตรมาสสอง ผลสำรวจเปลี่ยนไป กลุ่มสำรวจกว่า 90% เทน้ำหนักไปที่ปัจจัยเรื่องสินค้าราคาแพง เป็นปัจจัยแรกที่กระทบต่อการดำรงชีวิตและภาวะเศรษฐกิจ ตามด้วยกังวลสงครามยืดเยื้อ และยอดติดเชื้อโควิด

เรื่องเดียวกันนี้ เมื่อถามผู้ผลิตและกระทรวงพาณิชย์ก็มักได้ยิน “ตรึงราคา” อยู่!!

Advertisement

ได้สอบถามวงการค้าปลีก ก็ชัดเจนมากขึ้นว่า ตรึงราคาที่นิยมใช้กันคือ เลิกโปรโมชั่นแข่งกันลดราคา ควบคู่กับเปลี่ยนแบบขวด หรือแบบฉลาก เช่น เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อเคยเป็นขวดเหลี่ยมก็เป็นขวดกลม หรือจากกลมเป็นเหลี่ยม ก็อ้างได้ว่าเป็นสินค้าใหม่และเพิ่มราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท หรือสินค้าแบบซอง ที่น้อยคนจะจำได้น้ำหนักสินค้าที่เคยกินเคยซื้อระบุไว้กี่กรัม ก็ใส่น้ำหนักลดลง เรื่องเหล่านี้ใช่ว่าแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

อีกกลเม็ดเริ่มมาแล้ว ชั้นเชิงที่แยบยลที่ผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่นิยมใช้เพื่อประคองรายได้ คือ การขายพ่วง หรือบังคับซื้อสินค้ายอดดีกับยอดแย่ไว้ด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image