จับทิศตลาดหุ้นไทยไตรมาส2 หลังสงกรานต์ สารพัดปัญหาผุด ขวางทางขึ้น-ดึงซึมตัว

จับทิศตลาดหุ้นไทยไตรมาส2 หลังสงกรานต์ สารพัดปัญหาผุด ขวางทางขึ้น-ดึงซึมตัว

ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะขึ้นไม่ไหว ลงไม่ลึก ไปไหนไม่ได้ หรืออาการซึมตัวของดัชนี หลังจากปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด ถือเป็นระดับจิตวิทยาที่สำคัญ แต่เมื่อไม่สามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ ดัชนีจึงทยอยปรับลดลง และเคลื่อนไหวบวกลบแบบเล็กๆ น้อยๆ โดยหากเทียบระดับดัชนีหุ้นในต้นเดือนมกราคม 2565 ก็เคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 1,680 จุด เหมือนในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงระดับดัชนีที่ยังไม่ไปไหน

เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/2565 (เมษายน-มิถุนายน) ถึงตอนนี้ก็ครึ่งทางของเดือนแรกไตรมาสสองแล้ว จึงต้องมาประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยกันอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเคลื่อนไหวและวางแผนการลงทุนต่อไป ป้องกันความเสี่ยงและการหายไปของเม็ดเงินในมือ! “มติชน” จึงทำการสอบถามกูรูในวงการ

⦁ผ่านช่วงที่ดีที่สุดแล้ว
หนึ่งผู้เชี่ยวชาญ ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ไตรมาส 1/2565 หรือมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นปิดที่ระดับ 1,695 จุด ปรับขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 1,657 จุดจากการปิดตลาด ณ สิ้นปี 2564 แม้มองว่าไตรมาส 1/2565 จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของตลาดหุ้นไทยแล้ว โดยเฉพาะกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ที่ปรับขึ้นมาได้ดี เทียบกับช่วงไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน) ที่กำไร บจ.ปรับลดลงไปลึกมาก เชื่อว่าเราอาจไม่ได้เห็นกำไร บจ.ปรับลดลงต่ำๆ แบบนี้อีกนานแสนนาน หากประเมินจากกราฟข้อมูล พบว่า กำไร บจ. ที่ปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) เป็นประวัติการณ์ อยู่ในไตรมาส 1/2561 มูลค่าประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งไตรมาส 4/2564 เราเห็นกำไร บจ.ฟื้นตัวขึ้นมาได้กว่า 2.7 แสนล้านบาทแล้ว ทำให้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การที่กำไร บจ.จะปรับขึ้นไปทำนิวไฮจึงไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะฐานในไตรมาส 4/2564 มีมูลค่าเกือบแตะนิวไฮเดิมในปี 2561 ได้แล้ว บวกกับมูลค่าตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นแตะ 19 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าไม่ถึง 15 ล้านล้านบาทเท่านั้น ทำให้แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 นี้ เราหมดช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้ว ต่อจากนี้ความเป็นจริงของปัญหาต่างๆ จะเริ่มเห็นมากขึ้น

“ปัญหาของไตรมาส 2 คือ ในอดีตที่ผ่านมา ไตรมาส 2 ถือเป็นไตรมาสที่มีความซบเซาอยู่แล้ว และจะซบเซาต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ก่อนที่อาจสามารถเด้ง หรือฟื้นในไตรมาส 4 ได้บ้างเล็กน้อย ถือว่าเป็นธรรมชาติปกติของตลาดหุ้น ทำให้ทั้งปี 2565 กำไร บจ.จะย่อตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแน่นอน อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน เราไม่คิดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้มากมายนัก จากเดิมที่เคยขึ้นไปยืนเหนือ 110 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตอนพรีวิวในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง ที่แม้จะได้กำไรจากดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะค่าทำเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ต่างๆ เริ่มลดลง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มน้อยลง ทำให้เห็นหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทยอยโผล่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มขึ้นตาม” ประกิตกล่าว

Advertisement

⦁เผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 เราจะมีปัจจัยการเมือง จากเสถียรภาพของรัฐบาล และการที่รัฐบาลดึงโควิด-19 ออกจากสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ หลักๆ ได้แก่ การปรับลดงบดุล (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีขนาดการดึงเม็ดเงินออกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบมากน้อยเท่าใด เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะดูดสภาพคล่องออกมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา ดังนั้น จึงประเมินว่า มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยจะไม่เพิ่มขึ้น มีแต่จะแย่ลง อีกทั้งยังเจอผลของค่าเงินบาท ที่คาดว่าจะอ่อนค่าลง เพราะธรรมชาติของค่าเงินบาท ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าอยู่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องของการจ่ายเงินปันผลให้กับต่างชาติ ซึ่งปี 2565 ถือว่ามีการจ่ายปันผลสูงมาก มูลค่ารวมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปันผลต่างชาติ 7.5 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องทยอยออกในช่วงหลังสงกรานต์ เป็นต้นไป

“เดือนพฤษภาคมนี้ มีโอกาสที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์เซลล์อินเมย์ (Sell in May) หรือเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมักจะต้องเผชิญกับแรงขายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งความน่ากังวลอยู่ที่ ตลาดหุ้นต่อจากนี้จะอยู่ในภาวะซึมตัวลงเรื่อยๆ ทั้งที่ความจริงแล้วหากจะซึมตัวลง การติดลบอาจดีมากกว่า” ประกิตกล่าว

⦁แนวโน้มหุ้นปรับลงต่อ
อีกผู้เชี่ยวชาญ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อ ตอบรับแรงกดดันค่อนข้างรุนแรงจากปัจจัยต่างประเทศ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสูงขึ้นมาเหนือ 2.79% และยิ่งหากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ใกล้จะประกาศออกมาเร่งตัวขึ้นอีก ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้น โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เท่ากับเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50% ถือว่าสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นสูงมาก ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวสูง จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วทั้งโลก และของไทย อาจเป็นแรงกดดันต่อนโยบายการเงินของไทยด้วย

Advertisement

ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเป็นไปอย่างไร ทุกยุคตลาดการลงทุน คงยืนหนึ่งบนความหวังสร้าง “ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากแบงก์” แต่จากกูรูสะท้อนนั้น หุ้นไทยจะรุ่งหรือจะร่วง คงต้องลุ้นปัจจัยเสี่ยงสารพัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image