“สอท.” คาดดีเซลแตะ 32-35บาท/ลิตร ราคาสินค้าขึ้นตาม แนะเอกชนปรับระบบขนส่ง

“สอท.” คาดดีเซลแตะ 32-35 บาท/ลิตร ราคาสินค้าขึ้นตาม แนะเอกชนปรับระบบขนส่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีกองทุนน้ำมันจะพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และมีต่อราคาขนส่งขึ้นประมาณ 15-20% นั้น ราคาขนส่งปรับขึ้นย่อมกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าทั่วไปปรับขึ้นตาม ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐมีมาตรการช่วยเหลือตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท โดยใช้เงินกองทุนเข้ามาชดเชย ผ่านมาระยะหนึ่ง เงินกองทุนหมดและติดลบเกือบ 4 หมื่นล้าน จึงคาดการณ์ว่าวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐจะปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับตัวเลขสูงขึ้น ตามผลกระทบที่ได้รับจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

คาดดีเซลแตะ32-35บาท/ลิตร

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสถึง 32 บาท 33 บาท ถึง 35 บาท/ลิตร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโลก เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในระลอกต่อไป จะมีความรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่ ปัจจัยนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก และภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบทั่วโลก กรณีประเทศไทย ขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลอาจกู้เงินเพิ่ม เพื่อเสริมเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนเข้ามาช่วยชดเชย ฉะนั้นที่ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นแพงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การยืดเยื้อสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนด้วย

“ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศเผชิญ เนื่องจากต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนอาหารเพิ่ม ทำให้ค่าครองชีพพุ่งขึ้น ไทยได้รับผลกระทบเรื่องของน้ำมันที่ต้องน้ำเข้ามาใช้ในสัดส่วน 90% เป็นปัญหาที่กระทบต่อบริบทประเทศไทย ที่กำลังเพิ่งเริ่มเปิดประเทศและกำลังฟื้นตัว อีกทั้งยังมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ” นายเกรียงไกรกล่าว

Advertisement

แนะรัฐผนึกเอกชนปรับระบบขนส่ง

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ในส่วนที่ไทยเป็นผู้นำเข้าหรือรับน้ำมันเข้ามาใช้ประมาณ 90% ต้องนำเข้าสุทธิ เพราะฉะนั้นทุกๆ 1 เหรียญของราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาค้าปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.25 สตางค์ การที่รัฐไม่สามารถช่วยชดเชย เนื่องจากภาระทางการคลังที่หนักเกินไปทำให้ราคาค่าน้ำมันต่างๆ ลอยตัว ประชาชนต้องช่วยกันรณรงค์ประหยัดน้ำมัน ใช้กันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติด จากการสัญจรของผู้ใช้รถใช้ถนนติดขัดแล้วปล่อยรถอยู่กับที่เป็นเวลานานทำให้เสียพลังงานไปโดยใช่เหตุ สาเหตุแรกอาจมาจากการก่อสร้างบนถนน จึงอยากให้ภาครัฐเข้าไปพูดคุยเรื่องเวลาการทำงาน กับผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นตัวช่วยหนึ่งที่สามารถลดการใช้พลังงานได้เพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรมได้มีการพูดคุยเรื่องการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการขนส่ง ร่วมกันกับบริษัทต่างๆ โดยภาคขนส่งเอกชนมีการใช้แอพพ์ภายในบริษัทบ้างแล้ว แต่ตอนนี้กำลังเริ่มพัฒนาการแอพพลิเคชั่นส่วนกลาง เพื่อทำให้สมาชิกร่วมภาคธุรกิจขนส่งลดต้นทุนการขนส่งร่วมกัน เช่น การตีรถส่งของไปเต็มคัน และขากลับก็รับของต่อบริษัทอื่นขนของกลับมาเต็มคันเช่นกัน คาดว่าจะเป็นแอพพ์ช่วยลดการใช้น้ำมันโดยเปล่าประโยชน์ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image