อุตฯเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท. เผยหน้าร้อนแอร์ขายดียอดขายพุ่ง10-15% คาดยืนระดับนี้ทั้งปี อานิสงส์อากาศร้อน กำลังซื้อฟื้น เตรียมประกาศโควิดโรคประจำถิ่น และงานแสดงสินค้าใหญ่สุดของอาเซียน
- หน้าร้อนแอร์ขายดียอดพุ่ง10-15%
นางสุภาณี จันทศาศวัต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “มติชน” ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในช่วงฤดูร้อนว่า ปีนี้ยอดขายในประเทศเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ก่อนเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นหน้าขายของสินค้ากลุ่มนี้ ล่าสุดจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ยอดขายในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ผลจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อเริ่มกลับมา หลังเผชิญกับโควิด-19 มากว่า 2 ปี ได้ส่งผลต่อยอดขายเช่นกัน
เมื่อย้อนกลับไป 2562 ยังไม่เกิดโควิด-19 ยอดขายเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เติบโต 16-20% ต่อมาปี 2563 เผชิญกับโควิด-19 ตลาดลดลงมาก ต่อมาปี 2564 ตลาดลดลงไม่มากแค่ 5% เพราะได้อานิสงส์จากการทำงานที่บ้าน หรือเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ความต้องการใช้แอร์ที่บ้านในเวลากลางวันมีมาก เพราะแอร์ที่ใช้อยู่เดิมเหมาะสำหรับเวลากลางคืน ความเย็นไม่เพียงพอ
“ตลอดปีนี้ เชื่อว่าจะเติบโต 10-15% ตัวเลขเดียวกับยอดขายช่วงนี้ เพราะช่วงไตรมาส3 คือ กรกฎาคม-กันยายน2565 โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยิ่งขึ้น และเดือนกันยายน ไทยเตรียมจัด งานแสดงสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 2565 หรือ Bangkok RHVAC 2022 ซึ่งเดิมจะจัดปี 2564 แต่เลื่อนมาเป็นปีนี้ มั่นใจว่างานนี้จะได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ เพราะจะมีนวัตกรรม สินค้าใหม่ๆ จำนวนมาก อาทิ ตู้แช่วัคซีน ห้องความดันลบ เครื่องฟอกอากาศพกพา โดยเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทย ยังคงเป็นฐานสำคัญของภูมิภาค ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”นางสุภาณีกล่าว
- ขึ้นราคา3-5%เหตุวัตถุดิบขยับแรง
ขณะนี้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ต่างเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นมาก สาเหตุหลักมาจากสงครามความขัดขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และปัจจัยอื่นๆ วัตถุดิบที่แพงขึ้น อาทิ เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ตลอดวัตถุดิบเกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างทองแดงขยับเป็น 10,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 5,000 เหรียญฯต่อตัน และวัตถุดิบบางประเภทขึ้นราคาทันที 70% ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเฉลี่ย 3-5% เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการในตลาดยังเป็นบวก จึงทำให้แนวโน้มของอุตสหกรรมยังดีอยู่
“ผลจากวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ขยับสูงขึ้น ส่วนใหญ่ปรับขึ้นเฉลี่ย 3-5% แต่ไม่ถึง 10% เพราะตัวสินค้ามีราคาค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจึงขยับราคามากไม่ได้ แต่จำเป็นต้องขึ้น เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมากจริงๆ นอกจากนี้การแข่งขันก็สูงมาก เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการจีนย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อทำตลาดทั้งในไทยและส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างมาก”นางสุภาณีกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง
- ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟโหดหน้าร้อน ลดค่าเอฟที 22 สต.ไม่เพียงพอ วอนเยียวยาเพิ่ม
- จับตาอากาศร้อนจัดดันไฟพีคหลังสงกรานต์ ขอ ปชช.อุ่นใจ รัฐลดเอฟทีช่วย 4 เดือน