สกู๊ปหน้า 1 : ส่องแรงงานไทย ปัจจัยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

สกู๊ปหน้า 1 : ส่องแรงงานไทย ปัจจัยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

จากวิกฤตการณ์โรค โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศไทยซึมยาวต่อเนื่องมานานนับปี ทำท่าจะดีขึ้นบ้าง ก็มาเจอกับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน อีกระลอก และทั้งหมดนี้ก็ส่งผลสะเทือนไปถึงสถานการณ์ของ แรงงานภายในประเทศ เช่นกัน

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศไทย โดยจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือแรงงานในด้านต่างๆ ทั้งการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การจ่ายช่วยเหลือกลุ่มว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย การออกมาตรการ ม33เรารักกัน การจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 การทำแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี การจัดมหกรรม จ๊อบ เอ็กซ์โป ไทยแลนด์ 2020 จำนวน 1 ล้านตำแหน่ง พบว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จนถึง ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจและแรงงานในภาพรวมฟื้นตัวดีอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 1 ห้วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดการจ้างงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 โดยเฉพาะผลจากการจัดจ๊อบ เอ็กซ์โป ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564 สามารถบรรจุงาน รวม 2,000,959 ราย แบ่งเป็น ทำงานกับภาครัฐ 645,183 ราย ภาคเอกชน 1,304,152 ราย เดินทางไปทำงานต่างประเทศ 51,624 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 กันยายน 2563-ปัจจุบัน)

“จะเห็นได้ว่าในระบบการจ้างงานนั้นยังมีคนทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการทำงานภายในประเทศก็มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนของการส่งออกไปทำงานในต่างประเทศก็มีความพยายามขยายตลาดแรงงานออกไป อย่างล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 32 ปี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นสิ่งที่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้ ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จากนั้นกระทรวงแรงงานใช้เวลาเพียง 59 วัน ก็สามารถลงนามเอ็มโอยูด้านแรงงานกับรัฐบาลซาอุฯได้ ทันกรอบเวลาที่นายกฯตั้งไว้ว่าภายใน 60 วัน”

Advertisement

“หลังจากลงนามวันนั้น ตามมาด้วยข่าวดีไทยส่งออกไก่ไปซาอุฯตู้แรก ซึ่งไม่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาหลายสิบปี ในอนาคตก็มีเรื่องการท่องเที่ยว และเร็วๆ นี้คือการส่งแรงงานที่มีฝีมือไปทำงานที่ซาอุฯ เพราะที่นั่นขาดแคลนแรงงานมาก เนื่องจากประเทศเปลี่ยนแนวทางการบริหาร จากเดิมทำเกี่ยวกับพลังงาน น้ำมัน เป็นหลัก แต่ตอนนี้จะเน้นการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเงินของตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นโอกาสของคนไทยกลุ่มใช้แรงงานกึ่งทักษะ ทั้งพนักงานออฟฟิศ กลุ่มเฮลธ์แคร์”

ผู้ช่วยพยาบาล ก่อสร้าง เชื่อม ไม้ เหล็ก ปูน แม้กระทั่งร้านอาหาร ขณะนี้มีคนไทยลงทะเบียนจะไปทำงานแล้วกว่า 1,000 ราย คาดว่าอีกไม่เกิน 3 เดือน จะชัดเจนเรื่องจำนวน ซึ่งจะมีการเปิดตลาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน เพราะกลุ่มนี้พูดภาษาอาหรับได้ และมีทักษะฝีมือ” นายสุชาติกล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2565 ว่า ผ่านไตรมาสที่ 1 แล้ว นับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศตัวเลขการจ้างงานเพียง 2 เดือน คือมกราคม และกุมภาพันธ์ รวม 203,923 คน เชื่อว่าเป็นผลมาจากเปิดประเทศ

“วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะเปิดประเทศ นายกฯให้กระทรวงแรงงานช่วยคิดเรื่องรักษาการจ้างงาน ซึ่งยากมาก เพราะสถานการณ์ขณะนั้น เดือนเมษายน-ตุลาคม 2564 สู้กับโควิด-19 หนักมาก จะเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน สิ่งแรกที่นายกฯให้ช่วยคือ รักษาการจ้างงาน เราก็เลยเอากราฟมาดู ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงก่อนพฤศจิกายน 2564 พบว่า กราฟสะวิงที่การออกจากงานในกลุ่มเอสเอ็มอี ทั้งนี้ เอสเอ็มอีมีประมาณ 3.9 หมื่นกว่าราย (ลูกจ้างในระบบประกันสังคมต่ำกว่า 200 คน)”

“ซึ่งในเอสเอ็มอีมีลูกจ้าง 5 ล้านคน เป็นต่างด้าวเกือบ 1 ล้านคน หมายความว่า 4 ล้านคน เป็นคนไทย รัฐบาลจึงใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ช่วยเอสเอ็มอี พยุงช่วยทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะเอสเอ็มอีคือการจ้างงานครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่เหลือเป็นบริษัทใหญ่ๆ ก็ช่วยรายเล็กให้รอดก่อน เมื่อรัฐมีนโยบายคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ก็เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าออกเร็วมาก กลับมาจ้างงานเพิ่มอีก ก็ช่วยรายละ 3,000 บาท และให้รักษาการจ้างงาน ถ้าจ้างเพิ่มก็จ่ายให้อีกหัวละ 3,000 บาท ทำ 3 เดือน มีผลรับคือ กลับมาจ้างงานอีก 57,000 อัตรา ตลาดจ้างงานผงกหัวขึ้นทั้งหมด” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวอีกว่า ช่วงเกิดโควิด-19 แฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ช่วยเหลือให้โรงงานไม่ต้องปิดตัว

“เพียงแต่เอาวัคซีนเข้าไปฉีดให้ลูกจ้างในโรงงาน ทำให้สายพานการผลิตไม่ขาดช่วง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย โรงงานปิด แต่ของไทยไม่ปิด ก็ทำให้ยอดส่งออกเติบโต เราทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาชน แต่ผลรับที่ได้คือเศรษฐกิจมหภาคใหญ่ ต้องยอมรับว่าท่องเที่ยวในช่วงโควิด-19 ตายหมด แต่พวกโรงงานใหญ่เราให้ปิดไม่ได้ ก็ประคับประคองให้เดินไปได้ ดีใจกันใหญ่ โบนัสออก” นายสุชาติกล่าว และว่า ตอนนี้อยู่ในช่วงไตรมาส 2 เชื่อว่ายังเป็นบวก เพราะเฉพาะไตรมาสที่ 1 แค่ 2 เดือน แรงงานเข้ามาในระบบเดือนละ 9 หมื่น ถึง 1 แสนคน คาดว่าในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 อาจจะมาอีก 2-2.5 แสนคน ขณะที่ตัวเลขการออกจากงาน 7 หมื่นคน ใน 3 กรณี

“แต่เหล่านี้ไปทำงานที่อื่นด้วย 5-6 หมื่นคน ออกจากงานจริงแค่ 1 หมื่นคน ส่วนคนที่ไม่เคยทำงานเลยอนุมานว่าเป็นนักศึกษาจบใหม่ และคาดว่าไตรมาสที่ 4 ก็น่าจะเติบโตตาม ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้จ่ายช่วยเหลือตามมาตรา 75 กรณีหยุดงานจากเหตุสุดวิสัยหลายแสนรายต่อเดือน แต่ช่วงที่ผ่านมาใช้ไปแค่หมื่นกว่าราย ถือว่าเล็กน้อยมาก”

นายสุชาติกล่าวย้ำว่า ไตรมาส 2, 3 และ 4 มั่นใจว่าสถานการณ์แรงงานและเศรษฐกิจไทยเป็นบวกแน่นอน เพราะตรวจสอบจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) พบว่ามีล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี

“หลายบริษัทจ่ายโบนัสพนักงานสูงมาก ที่รุ่งที่สุดคือกลุ่มยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ อาหารกระป๋อง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยวและโรงแรม เช่น บริษัท มินิแบร์ ที่ผู้บริหารองค์กรถึงขั้นมาขอบคุณรัฐบาลที่ดูแลพนักงานให้ทุกอย่าง เขาปิดตัวในหลายประเทศ แต่ในประเทศไทยเขาลงทุนเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ทำให้ต้องคิดอีก คือวิกฤตรัสเซียกับยูเครน ถ้าเขาหยุดสู้รบกันเมื่อไรประเทศไทยจะไม่แพ้ใครในเอเชีย เพราะกำลังการผลิตและมีออเดอร์ แต่เราไม่มีพลังงานเหมือนบางประเทศ ถ้าเชื้อเพลิงสูงก็จะยิ่งทำให้ของแพง” นายสุชาติกล่าว

เมื่อถามว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีงานทำจะทำอย่างไร นายสุชาติกล่าวว่า แพลตฟอร์มไทยมีงานทำ มีตำแหน่งงานว่าง 1.5 แสนอัตรา แต่ถามว่าคำว่าไม่มีงาน จะเอาแบบไหน เพราะบางคนต้องการงานที่เงินเดือนสูงๆ คนหางานก็ต้องประเมินตัวเอง เงินเดือน วุฒิการศึกษา ถ้าอยากได้งานที่เงินเดือนสูงก็ต้องค่อยๆ ไต่ระดับ ถ้าจะเอาตามใจบางทีก็เป็นเรื่องยาก

“ตอนนี้คนไม่มีงานทำ อย่างที่บอก เดือนมกราคม 7 หมื่นกว่าคน ก็ไปทำงานที่ใหม่ 5-6 หมื่นคน เหลืออีก 1 หมื่นกว่าคน แต่ไม่ทราบว่าออกเพราะหมดสัญญาจ้าง หรือลาออกเอง หรือไปเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเกษตรกร ตอนนี้สั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อติดตามคนกลุ่มนี้ว่าเขาอยู่ไหน ทำอะไรกัน” นายสุชาติกล่าว และว่า แต่ถ้ามองว่าเพราะค่าจ้างไม่จูงใจ ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ในอาเซียนประเทศไทยเป็นรองแค่บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่อย่าลืมว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ค่าจ้างน้อยกว่าเราครึ่งหนึ่งจริง แต่ค่าครองชีพเขาสูงมาก เช่น เวียดนาม ค่าน้ำมันแพงกว่าไทย”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ขณะนี้ค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ แต่ส่วนใหญ่ที่ทำเป็นแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ หากมีคนไทยทำก็เป็นส่วนน้อย เพราะถ้างานที่คนไทยทำส่วนใหญ่ค่าจ้างจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หากถามว่าในเร็วๆ นี้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้มีการหารือกับหลายภาคส่วน ในลักษณะของไตรภาคี คือนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ การพิจารณาก็ต้องดูภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่

“ผมพูดเรื่องนี้มากไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในไตรภาคี แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นในแต่ละพื้นที่จะต้องไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของไตรภาคี นายจ้าง ลูกจ้าง ราชการ ที่ต้องพิจารณา ปีที่แล้วมี 50 จังหวัด ไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องช่วยกัน แต่รัฐบาลดูแลให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานผ่านโครงการ ม33เรารักกัน จ่ายกลุ่ม ม.39 และ ม.40 มีโครงการคนละครึ่ง แต่ปีนี้เชื่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้นแน่นอน แต่จะเท่าไรต้องขึ้นอยู่กับไตรภาคี เพราะรัฐมนตรีชี้นำไม่ได้ แต่ต้องขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ คาดว่าจะชัดเจนหลังจากเดือนกันยายนนี้” นายสุชาติกล่าวย้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image