ร้อนตับแลบ ยอดขายแอร์พุ่ง 15% จ่อปรับขึ้นราคา 3-5% หลังวัตถุดิบสูงขึ้น

ร้อนตับแลบ ยอดขายแอร์พุ่ง 15% คลังถกเอกชนดันส่งออกปีนี้โต 10% ททท.อัดโปรกระตุ้นท่องเที่ยว ไตรมาสแรกโต 1.3แสนล้าน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์วันที่ 17 เมษายนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ ว่าปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งข้อมูลการส่งออกเดือนมีนาคม 2565 ของกรมศุลกากรยังแสดงให้เห็นถึงการขยายตัว ทั้งการส่งออกและการนำเข้ายังเติบโตได้ดี จึงเชื่อว่าตัวเลขการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) น่าจะขยายตัวที่ 12-15% แสดงให้เห็นว่าภาคการส่งออกยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และจากที่ได้คุยกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวที่ 5% แต่ถ้าดูการส่งออกในไตรมาสที่ 1 มีการขยายตัว

12-15% จึงขอให้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือขยับเป้าหมายการส่งออกเป็น 10% ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มากขึ้น หากการส่งออกมีปัญหาส่วนไหนก็ขอให้บอก ถ้าเป็นส่วนของกระทรวงการคลังจะช่วยเต็มที่ ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม จากที่รัฐมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือและผ่อนคลายมาตรการด้านการป้องกันโควิด-19 ลงเรื่อยๆ จะทำให้เศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ดีขึ้น และช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดลงได้มากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ระดับของการใช้จ่ายภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องเทสต์แอนด์โกที่ปรับขั้นตอนให้ง่ายขึ้น สะดวกต่อนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศไทย

ส่งสัญญาณทำลดขาดดุลงบฯ

นายอาคมยังกล่าวถึงปัญหาการจัดงบประมาณขาดดุลว่าเป็นแนวทางเดียวกับประเทศ อื่นๆ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง การทำงบขาดดุล หมายถึงการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ แต่ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะทำให้การขาดดุลต่อรายได้ลดลง ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดดุลสะสมไปเรื่อยๆ

“ดังนั้น โครงการของรัฐบาลบางส่วนจะไปใช้การลงทุน รูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) มากขึ้น ส่วนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เจอผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้น เชื่อว่าจีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 3-4% ลดลงเล็กน้อยจากเดิมคาดการณ์ที่ 3.5-4.5% โดยมีประเด็นที่ต้องติดตามคือเรื่องราคาสินค้าแพง อย่างต้นทุนการผลิตคือปุ๋ย อาหารสัตว์ กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องภาษีเพื่อลดต้นทุนการนำเข้า แต่ต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบ อย่าให้ประโยชน์ไปตกอยู่ที่บริษัทใหญ่อย่างเดียว”

Advertisement

เที่ยวในปท.ไตรมาส 1 โต 1.35 แสนล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวในประเทศมีทิศทางเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 29.70 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 73% มีรายได้ทางการท่องเที่ยว 135,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% ผลจากรัฐบาลมีปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ททท.ประเมินตัวเลขการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13-17 เมษายน จะมีจำนวนการเดินทางภายในประเทศ 3.34 ล้านคน/ครั้ง เกิดการใช้จ่ายประมาณ 11,000 ล้านบาท และคาดการณ์ไตรมาสสองนี้ (เมษายน-มิถุนายน) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 22.98 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 210% สร้างรายได้ 105,265 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 อย่างไรก็ตาม หากประเทศต่างๆ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่มีเงื่อนไขในการกักตัว และมาตรการฟรี วีซ่า อาจจะมีคนไทยออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็จะส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศเกิดภาวะชะลอตัวได้

ออกสารพัดแคมเปญกระตุ้น

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ททท.มีแนวคิดกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วยแคมเปญ เที่ยวเมืองไทย อะเมซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม นำเสนอรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปในมิติต่างๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลายในพื้นที่ 5 ภูมิภาค วิถีชีวิตผู้คน รวมถึงปลุกการเดินทางท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศกว่า 6.56 แสนล้านบาท

Advertisement

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ทำแคมเปญล่าสุดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่องผ่านโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางรูปแบบทำงานได้ทุกที่ เปิดโอกาสให้บุคลากรในหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ สามารถเปลี่ยนสถานที่ทุกแห่งให้เป็นที่ทำงาน จัดกิจกรรม ประชุม พบปะสังสรรค์ ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสใหม่ของภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก โดยจัดทำเป็นแพคเกจท่องเที่ยวที่เหมาะสมสำหรับการออกเดินทางและทำงานได้อย่างอิสระบนเว็บไซต์ www.tourismthailand.org/workationthailand

ทั้งนี้ ได้จัดแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.Resort & Hotel Special Deal วันธรรมดา ซึ่ง ททท.ได้รวบรวมโปรโมชั่นเด็ด ราคาพิเศษของโรงแรมต่างๆ 2.CSR Outing เที่ยวตามธีม อาทิ โปรแกรมท่องเที่ยวเรื่องความอร่อยของอาหารไทยโบราณ ณ ชุมชนบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี การทำกิจกรรม ณ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่เป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนจาก 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม 3.Gastronomy/Luxury รวบรวมร้านอาหารดัง และร้านอาหารที่ห้ามพลาด และ 4.Special Deal ท่องเที่ยวตามความสนใจพิเศษ อาทิ บ้านพักรับรอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม อาทิ บ้านพักรับรองเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

ร้อนจัดแอร์ขายดียอดพุ่ง 10-15 %

นางสุภาณี จันทศาศวัต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ มติชน เกี่ยวกับยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในช่วงฤดูร้อนว่า ปีนี้ยอดขายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถือเป็นฤดูการขายของสินค้า กลุ่มนี้ ล่าสุด จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่ายอดขายในประเทศเติบโตประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อเริ่มกลับมา หลังเผชิญกับโควิด-19 มากว่า 2 ปี

นางสุภาณีกล่าวว่า ย้อนกลับไป 2562 ช่วงยังไม่เกิดโควิด-19 ยอดขายเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นขยาย 16-20% ต่อมาปี 2563 เผชิญกับโควิด-19 ตลาดตกลงมามาก ต่อมาปี 2564 ตลาดลดลงไม่มาก เพียง 5% เพราะได้อานิสงส์จากการทำงานที่บ้าน ตลอดปีนี้เชื่อว่าจะเติบโต 10-15% ตัวเลขเดียวกับยอดขายช่วงนี้ เพราะช่วงไตรมาส 3 คาดว่าโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยิ่งขึ้น

และเดือนกันยายน ไทยเตรียมจัดงานแสดงสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 2565 หรือ Bangkok RHVAC 2022 ที่เลื่อนมาจาก ปี 2564 มั่นใจว่างานนี้จะได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ เพราะจะมีนวัตกรรม สินค้าใหม่ๆ จำนวนมาก อาทิ ตู้แช่วัคซีน ห้องความดันลบ เครื่องฟอกอากาศพกพา โดยเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทย ยังคงเป็นฐานสำคัญของภูมิภาค ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ขึ้นราคา 3-5 %เหตุวัตถุดิบขยับแรง

นางสุภาณีกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ต่างเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นมาก สาเหตุหลักมาจากสงครามความขัดขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และปัจจัยอื่นๆ เช่น วัตถุดิบที่แพงขึ้น ทั้งเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ตลอดวัตถุดิบเกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ทองแดงขยับเป็น 10,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 5,000 เหรียญต่อตัน และวัตถุดิบบางประเภทขึ้นราคาทันที 70% ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเฉลี่ย 3-5% เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการในตลาดยังเป็นบวก จึงทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมยังดีอยู่

“ผลจากวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นขยับสูงขึ้น ส่วนใหญ่ปรับขึ้นเฉลี่ย 3-5% แต่ไม่ถึง 10% เพราะตัวสินค้ามีราคาค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจึงขยับราคามากไม่ได้ แต่จำเป็นต้องขึ้น เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมากจริงๆ นอกจากนี้การแข่งขันก็สูงมาก เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการจีนย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อทำตลาดทั้งในไทยและส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างมาก” นางสุภาณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image