อานิสงส์เพิ่มเวลานั่งดริงก์! ธุรกิจกลางคืนหวังฟื้น 30 % จี้ ครม.ปลดล็อกกฎเหล็ก

อานิสงส์เพิ่มเวลานั่งดริงก์! ธุรกิจกลางคืนหวังฟื้น 30 % จี้ ครม.ปลดล็อกกฎเหล็ก

 

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายธนากร คุปตจิตต์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ให้ความเห็นกับมติชนกรณีที่ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบปรับลดพื้นที่สีคุมเข้มตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด เพิ่มเวลาบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น. จากไม่เกิน 23.00 น. นั้น เห็นได้ว่า ศบค. ได้พิจารณาเห็นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังสงกรานต์ไม่ได้พุ่งแรงอย่างกังวลก่อนหน้านี้ กับทั้งได้พิจารณาจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นอีกด้วย เพื่อเป็นการปรับตัวและการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19นี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด รวมทั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจโดยเร็ว และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้จากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันนานกว่า 2 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเนื่องมาจากออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกัน เพื่อลดอันตราย การเสียชีวิต และผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด คือ ธุรกิจด้านบริการต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการสถานบันเทิง นักแสดง นักดนตรี พ่อครัว รถรับจ้าง/แท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น

“ผ่อนคลายมากเท่าไหร่ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้มีเวลาในการทำการค้ามากขึ้น จากที่หารือในกลุ่มผู้ประกอบการ เบื้องต้นเชื่อว่าจะช่วยให้รายได้การค้าอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 20-30% หลังผ่อนคลาย ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวและร้านค้า หากหลังจากนี้ได้มีการผ่อนคลายมาตรการที่เหลือ และการเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวเข้าได้แบบไม่มีระบบการตรวจเช็คที่เข้มงวดเกินไป ปีนี้ก็น่าจะมีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามากขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป ก็จะช่วยฟื้นรายได้ร้านอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็น 80-90% ได้เมื่อเทียบกับปี 2562 ” นายธนากร กล่าว

Advertisement

นายธนากร กล่าวว่า เมื่อเราพิจารณาและสังเกตจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ที่ได้มีการเร่งการปรับตัวเพื่อให้เกิดการรองรับกับเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายหรือลดความรุนแรงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเพิ่มการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น การเปิดประเทศ ลดเงื่อนไขการเข้าประเทศ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึง ลดภาระและขั้นตอนในการมีกิจกรรมภายในประเทศเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศด้วย ถือว่าตอนนี้การแข่งขันทั่วโลกที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวถือว่ารุนแรงมาก นอกจากปัญหาผลกระทบจากโรคระบาดของโควิด-19 แล้วประเทศไทยก็ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจของความขัดแย้งในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงส่งผลให้เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

นายธนากร กล่าวต่อว่า แม้การผ่อนคลายของศบค.จะดีแต่ก็ใช่ดีทั้งหมด ในธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรค ซึ่งในความเห็นของผมคิดว่ารัฐบาล หรือ ศบค. ต้องเร่งดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการเพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วน และแข่งขันได้กับทุกประเทศที่เร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเขา และคงรักษานักท่องเที่ยวชื่มชอบท่องเที่ยวในไทยจะยังมาต่อเนื่อง เพราะยังมีกฎหมายหรือกฎระเบียบเดิมไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคกับการประกอบอาชีพ ซึ่งเรื่องนี้หลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน และมีความเห็นว่าควรปรับปรุง อาทิ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ปยป) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รวมถึงความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น แต่ติดที่ยังไม่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ

“ก่อนหน้านี้ที่ภาคเอกชนเสนอ เช่น ยกเลิกห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วง 14.00-17.00 น. การกำหนดโซนจำหน่ายหรือห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างห้ามขายบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ซึ่งควรกำหนดห้ามร้านขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนยึดใบอนุญาตการค้า เป็นต้น สมาคมกำลังติดตามยอดผู้ติดเชื้อรายวันหลังเทศกาลสงกรานต์อีก 2-3 สัปดาห์ว่าเป็นอย่างไร และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการทบทวนกฎระเบียบอีกครั้ง และกำลังหารือกับกลุ่มอาชีพด้านบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอแนวทางต่างๆที่รัฐควรเร่งดำเนินการก่อนไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้งในปลายไตรมาส 3 ปีนี้ โดยรัฐต้องประกาศก่อนเพื่อส่งสัญญาณให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ เพื่อให้ตัดสินใจเข้ามาเที่ยวไทย ไม่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังชิงตลาดนักท่องเที่ยว หากเป็นอย่างนี้ ที่รัฐบาลหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 10 ล้านคน อาจได้เห็น” นายธนากร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image