เงินฝากท่วม ‘ธ.ก.ส.’ เกษตรกรไม่ถอน-คนแห่ซบแบงก์รัฐ เร่งออกสินเชื่อ ขยายเป้า 3-4%

ธ.ก.ส. เผยปีบัญชี 64 เงินฝากท่วม เกษตรกรไม่ถอน-คนแห่ย้ายเข้าแบงก์รัฐ หลังคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาท เร่งออกสินเชื่อ ขยายเป้า 3-4%

เมื่อวันที่ 26 เมษายน นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำหรับปีบัญชี 2564 (วันที่ 1 เมษายน 2564-31 มีนาคม 2565 ) ธนาคารมีเงินฝากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากเงินฝากเกษตรกรในระยะสั้น ที่ได้รับเงินอุดหนุน จากโครงการช่วยเหลือสินค้าเกษตร ทั้งประกันรายได้ ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1 พันบาท สูงสุดไม่เกิน 2 ต่อครัวเรือน ที่ส่วนใหญ่ไม่มีการถอนออกไป

นอกจากนี้ เป็นผลจากกรณีที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้ปรับลดการคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร จึงทำให้ผู้ฝากเงินบางส่วนโยกย้ายมาสู่ธนาคารของรัฐ ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงสูงเพราะเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ดังนั้น ธนาคารจึงปรับเป้าหมาย เงินฝากของธนาคารในปีบัญชี 2565/2566 เหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี เงินฝากที่สูงเกินมากว่าเป้าหมายนั้น จะนำมาบริหารจัดการด้วยการ จัดทำสินเชื่อใหม่ เช่น สินเชื่อฟื้นฟูเกษตรกร สินเชื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ บีซีจี โมเดลได้แก่ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การเพิ่มมูลค่าสินค้าจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อไว้เบื้องต้นตั้งไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท แต่จะมีการทบทวนเป้าหมายสินเชื่อใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีการเติบโตที่ 3-4% หรือเพิ่มเป็นวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้องการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และเพื่อให้เป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อมีความสอดคล้องกับสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ

รวมทั้ง ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 5.1 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 88,398 ล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.63 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 53,872 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image