กปน.แจงข้อเท็จจริงตาม TOR งานขยายกำลังผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

กปน.แจงข้อเท็จจริงตาม TOR งานขยายกำลังผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

กปน.แจงข้อเท็จจริงตาม TOR งานขยายกำลังผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ยันผู้ยื่นทราบทุกรายละเอียด พร้อมชี้ผลตัดสินการอุทธรณ์ วินิจฉัยผิดพลาด ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมประปา

นายมนตรี อ้นหมูทอง ผู้อำนวยการกองโครงการระบบผลิตน้ำ การประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะกรรมการ TOR งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท ชิโน -ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการขออุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาตามประกาศของ กปน. ที่ได้ประกาศให้กลุ่ม ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประมูลงาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. โดยทางคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ กค (กอร)0405.5/14496 แจ้งผลการอุทธรณ์ มายังผู้ว่าการการประปานครหลวง ระบุว่า การอุทธรณ์ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีดังกล่าวนี้ จึงอยากที่จะชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ ข้อแรก คือ ตามหนังสือ กค(กอร)0405.5/14496 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ระบุ ให้ กปน.กลับไปพิจารณา แต่คำวินิจฉัยที่ให้เหตุผล ว่า ฟังขึ้น ตามหน้า 3 ที่ว่า “ ซึ่งตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ดังกล่าว การประปานครหลวง มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะพิจารณาผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ขนาดของระบบผลิตซึ่งต้องหักน้ำสูญเสียออกจากผลงานการผลิตเพื่อพิจารณากำลังผลิตสุทธิ และ การประปานครหลวงมิได้แสดงเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งว่า กำลังการผลิตสุทธิควรพิจารณาโดยหักน้ำสูญเสียออกเพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งแต่ต้น ซึ่งดูได้จากภาพประกอบ 1”

Advertisement

นายมนตรี กล่าวย้ำว่า แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องอุทธรณ์ ได้มีหนังสือ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เรื่อง ขอเสนอร่างข้อคิดเห็นร่าง TOR ข้อ 11 มีข้อความว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำ สำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน”นั้น หากคำนวณเป็นชั่วโมงแล้วเท่ากับ 4,166.67 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงตามมาตรฐานหน่วยงานระบบผลิตน้ำประปา และเมื่อคำนวณเป็นวันแล้วมีจำนวนระบบผลิตการผลิตที่ใกล้เคียงกันกับ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นจึงควรกำหนดเพิ่มเติมโดยใช้คำว่า”หรือ 4,000ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง” ดูได้จากภาพประกอบ 2

“ทางคณะกรรมการ TOR กปน. จึงขอชี้แจงเพื่อยืนยันให้เห็นว่า ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายทราบมาตรฐานหน่วยงานระบบผลิตน้ำประปาดี และได้มีการส่งเอกสารเสนอร่างข้อคิดเห็นมาที่การประปานครหลวง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นั้น เท่ากับว่า ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งแต่ต้นในเรื่องนี้มาตรฐานวิศกรรมประปา ซึ่งเท่ากับว่า หนังสือ กค(กอร)0405.5/14496 แจ้งผลอุทธรณ์ ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมประปา และผิดพลาดในการวินิจฉัยอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ระบุว่า “การประปานครหลวงมิได้แสดงเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งว่า กำลังการผลิตสุทธิควรพิจารณาโดยหักน้ำสูญเสียออก เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งแต่ต้น”

Advertisement

สำหรับการดำเนินการต่อมาของ กปน. นายมนตรี ได้อธิบายโดยละเอียดว่า กปน. ได้มีหนังสือที่ มท5450-3-1.2/33514 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เรื่อง ผลการพิจารณาความคิดเห็นร่างประกาศ และร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์งานก่อสร้างขยายกำลังผลิตน้ำ ที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญาGE-MS5/6-9 ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างจำกัด ระบุว่า “การประปานครหลวงได้พิจารณาความคิดเห็นต่อร่างประกาศ และร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สัญญา GE-MS5/6-9อย่างละเอียดรอบครอบแล้วเห็นว่า ควรคงร่างประกาศ”

จากเอกสารตอบจากการประปานครหลวงฉบับนี้ นายมนตรี กล่าวว่า ชี้ชัดได้เลยว่า ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายทราบตั้งแต่ประกาศร่างประชาพิจารณ์แล้วว่ามาตรฐานของหน่วยงานระบบผลิตน้ำประปาที่บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างเสนอปรับแก้ไขจาก 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานของหน่วยงานระบบผลิตน้ำประปา อีกทั้งยังมีการสรุปผลการพิจารณาร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างสัญญาGE-MS5/6-9 ด้วยว่า “ไม่ปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากการกำหนดขนาดของระบบผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ ตามที่ กปน. ใช้อยู่ในสัญญานี้ ได้กำหนดในหน่วยลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นจึงกำหนดผลงานเป็นร้อยละของขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จะก่อสร้าง ซี่งขนาดผลงานที่กำหนดคิดเป็นผลงานเพียง 12.5% ของความสามารถในการผลิตน้ำของโครงการนี้ ” ตามเอกสารตอบกลับที่ กปน. ได้ส่งให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ชี้ชัดให้เห็นว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่กำหนด ไม่รวมน้ำสูญเสียแล้ว โดยดูได้จากภาพประกอบ 3

“ ทุกอย่างจึงชัดเจนตามเอกสารตอบจากการประปานครหลวง ที่มท 5450-3-1.2/33514 เพราะผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายทราบโดยละเอียดว่า ผลงานตามข้อกำหนดที่ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอน และระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้องขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในสัญญาเดียวกันวงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000 บาท เป็นไปตามหลักหลักวิศวกรรมประปา เพราะผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายทราบ ตั้งแต่ก่อนยื่นข้อเสนอการประกวดราคา” นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image