การรถไฟ ทดสอบเดินรถ “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ ก่อนเปิดขนส่งสินค้า-เชิงพาณิชย์

การรถไฟ ทดสอบเดินรถ ‘อุลตร้าแมน’ หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ ก่อนเปิดบริการขนส่งสินค้าและขบวนรถเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯได้มีการจัดหา และรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) รุ่นใหม่ น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นล่าสุดของไทยนั้น

ขณะนี้ การรถไฟฯได้ดำเนินขั้นตอนการตรวจรับ เช็กสภาพความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ อะไหล่ต่างๆ ของรถทั้ง 20 คัน เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ได้เริ่มทำการทดสอบหัวรถจักรเป็นครั้งแรก โดยใช้ลากจูงขบวนรถโดยสาร 115 คัน ที่มีน้ำหนักประมาณ 1,000 ตัน จากย่านสถานีกลางบางซื่อ-ชุมทางฉะเชิงเทรา ซึ่งผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

ทั้งนี้ การรถไฟฯจะมีการทดสอบอีกครั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 โดยใช้ลากจูงขบวนรถสินค้าที่มีน้ำหนัก 2,100 ตัน จากชุมทางศรีราชา-ไอซีดีลาดกระบัง โดยเมื่อทำการทดสอบเสร็จสิ้น การรถไฟฯมีแผนจะนำไปเปิดให้บริการขนส่งสินค้า และเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) ในเส้นทางต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-หนองคาย และกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก เป็นต้น เพื่อทดแทนหัวรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนานรองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศต่อไป

สำหรับรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) ถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้าคุณภาพสูง ทำความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน และใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี มีลักษณะภายในและภายนอกโดดเด่น ทันสมัย ใช้โทนสีแดงสลับเทา จึงได้รับฉายาว่า “อุลตร้าแมน” โดยมีเป้าหมายนำเข้ามาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน และช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ตลอดจนรองรับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่จะเปิดใช้ในอนาคต

Advertisement

“การรถไฟฯมั่นใจว่า รถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมีความรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ และยกระดับศักยภาพการขนส่งทางรางให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี” นายเอกรัชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image