คิดเห็นแชร์ : ความเสี่ยงการเกิดภาวะ Stagflation ของไทย

คิดเห็นแชร์ : ความเสี่ยงการเกิดภาวะ Stagflation ของไทย จากภาวะ

จากภาวะ อัตราเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย หรือที่เรียกว่า Stagflation เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่หากมองข้อเท็จจริง เราจะพบว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดภาวะ Stagflation ยังน้อยมาก โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใด โดยในไตรมาส 4 ปี 2564 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 1.8% เทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.8% นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ล่าสุดขององค์กรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ของไทย ในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% 3.0% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ดังนั้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวในทิศทางบวก บ่งชี้ว่าประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายที่จะเกิดภาวะ Stagflation

หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอยู่ในวงจำกัด ความรุนแรงไม่พัฒนาไปมากกว่านี้ ก็เป็นไปได้ที่ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะสร้างปรากฏการณ์ 2 สูง ทั้งทางด้าน GDP และมูลค่าการส่งออก กล่าวคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในรอบ 4 ปี และการส่งออกจะมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัว

ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกจะยังคงขยายตัว โดย IMF ข้อมูล ณ 19 เมษายน 2565 คาดว่าเศรษฐกิจโลก ปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% แม้ว่าจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ซึ่งสามารถแบ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มประเทศที่ได้ผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาสินค้า ต้นทุน รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น แต่กรณีนี้ยังไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งประเทศส่วนมากของโลกจะอยู่ในกลุ่มนี้ และ 2.กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (war-cession) จากคาดการณ์ล่าสุดของ IMF มีเพียง 3 ประเทศ คือ รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส เท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวจะเป็นปัจจัยเชิงบวกขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทยที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศให้ขยายตัวไปด้วย และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวไปด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดย IMF คาดว่าราคาน้ำมันในปี 2565 จะอยู่ที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ GDP โลกยังคงขยายตัวได้

Advertisement

ปัจจัยภายใน การส่งออกมีแนวโน้มทำมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 ที่ 17.1% และมีมูลค่า 2.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกจะขยายตัวที่ 3.0-4.0% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัสูง 7.0% โดยการส่งออกของไทยได้รับปัจจัยบวกทั้งด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า แลปัจจัยทางด้านสินค้าของไทยที่มีศักยภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากในปี 2564 แม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคของหลายประเทศยังคงหดตัวในบางไตรมาส แต่การส่งออกไทยกลับส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าสนับสนุน WFH กลุ่มสินค้าทางการแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ในปี 2565 สินค้าที่มีศักยภาพและคาดว่าจะขยายตัว เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสัตว์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เป็นต้น

จำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น จากกระแสความต้องการท่องเที่ยวทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น ในปัจจุบันหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่นเดียวกันกับประเทศไทยได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีนักเที่ยวประมาณ 5-7 ล้านคน จะทำให้มีเงินหมุนสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มฟื้นตัว

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะเสถียรภาพของสถาบันการเงินและการคลัง ในปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 59.6 ต่อ GDP (เดือนธันวาคม 2564) และยังต่ำกว่าร้อยละ 70 ต่อ GDP ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะของภาครัฐ ทำให้ยังมีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่จำเป็น ขณะที่สถาบันการเงินของไทยภายใต้การกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีเสถียรภาพสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงนอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ทำงานเชิงรุกในหลายด้าน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน และปรับแนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

Advertisement

ความท้าทายและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระยะสั้น จะต้องติดตามพัฒนาการความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ประเด็นเหล่านี้ภาครัฐได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมออกนโยบายในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

ในส่วนความท้าทายในระยะต่อไป

ระบบนิเวศของกระแสโลกาภิวัตน์ จากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่ถูกออกแบบ โดยการนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยรวมให้มากที่สุด เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วได้กระจายการลงทุน ไปยังแหล่งผลิตซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ทำให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุนก่อนกระจายสินค้าที่ได้ ทั้งผลผลิตขั้นกลางและผลิตขั้นสุดท้ายไปขายทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศมีการเชื่อมโยงและพึ่งพากันสูง อย่างไรก็ตาม จาก 4 สถานการณ์สำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ

1.การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่น 2.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 3.การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 4.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การเชื่อมโยงพึ่งพากัน กลายเป็นข้อจำกัดและสร้างความเปราะบางที่สำคัญต่อการผลิตและการค้าของโลก ส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีแนวคิดที่จะออกแบบระบบนิเวศใหม่ ให้มีการพึ่งพาจากภายนอกน้อยลงและให้ความสำคัญกับแหล่งผลิตระยะสั้นหรือระดับภูมิภาคมากขึ้น

ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เสี่ยงสร้างกฎระเบียบโลก 2 ใบ จากกรณีรัสเซียใช้กำลังทางทหารปฏิบัติการพิเศษในประเทศยูเครน เมื่อรวมกับการแบ่งขั้วอำนาจที่มากขึ้น

เป็นการเติมเชื้อความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ให้น่ากังวลมากขึ้น มีการออกมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ฝั่ง เป็นผลให้มีการเชื่อมโยงและการพึ่งพากันน้อยลง มีการเตรียมความพร้อมสร้างระบบนิเวศ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แยกออกจากกัน ซึ่งเป็นการบั่นทอนการเชื่อมโยงการผลิตและการค้า และนำมาสู่กฎระเบียบของโลก 2 ใบ จึงเป็นความท้าทายที่ประเทศต่างๆ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) สำหรับความท้าทายระยะกลาง คือ รักษาความเป็นกลาง ท่ามกลางกระแสการแบ่งขั้วของประเทศอำนาจที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีการสร้างพันธมิตรและดึงประเทศต่างๆ เข้าสู่วงล้อความเป็นมิตรเฉพาะข้างตนเอง มีหลายประเทศ มีความจำเป็นต้องประกาศเลือกฝั่งอย่างชัดเจน แต่หลายประเทศดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและเป็นกลางเพื่อความเหมาะสมที่สุด เช่นเดียวกันกับประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลาง ในการดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศในภาพรวม เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมมือกับทุกประเทศ และหลีกเลี่ยงการสร้างข้อจำกัดต่อภาคเศรษฐกิจ

อีกทั้ง การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตในรูปแบบห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (regional supply chain) เนื่องจากข้อจำกัดห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ส่งผลให้การผลิตสินค้าสำคัญ ในบางครั้งขาดตอน แต่การพึ่งพาแหล่งผลิตในระยะสั้นยังไม่สามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ หลายประเทศจึงมีแนวคิดจะยกระดับ/พัฒนาแหล่งการผลิตระยะสั้นที่ครบวงจร เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอกให้มากที่สุด คาดว่าจะทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคของหลายอุตสาหกรรมในหลากหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลดความสำคัญในห่วงโซ่การผลิตสินค้าสำคัญ รวมทั้งการย้ายการลงทุนไปสู่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคแหล่งใหม่ ประเทศไทยควรมีการกำหนดเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการผลิตที่ครบวงจร และมีศักยภาพทดแทน

แหล่งวัตถุดิบระยะไกลอย่างสมบูรณ์ เพื่อรักษาการจ้างงาน การลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

การกำหนดสินค้ายุทธศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนา จากหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งการผลิต และการบริโภคภายในประเทศ นานาประเทศมีแนวคิดกำหนดสินค้ายุทธศาสตร์ที่สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง เช่น สินค้าพลังงานทางเลือก สินค้าเซมิคอนดักเตอร์ หรือสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ทดแทนโครงสร้างแบบเก่า ดังนั้น ไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์เช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจภายในประเทศจากปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น การพัฒนาพลังงานทางเลือก ปัจจัยการผลิตทางเกษตร และชิ้นส่วนการผลิตสินค้าสมัยใหม่ เป็นต้น

สร้างความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพด้านแรงงาน โดยควรเร่งแก้ไขปัญการขาดแคลนและทักษะแรงงาน หลายประเทศประสบปัญหาในการผลักดันเศรษฐกิจเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนา เนื่องจากประสบกับการขาดแคลนด้านแรงงาน และทักษะแรงงานที่มียังไม่สอดคล้องกับทักษะแรงงานที่ต้องการ ดังนั้น ไทยควรเตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาแรงงาน โดยการยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

ออกแบบระบบการเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานตลาดแรงงาน สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างรวดเร็ว เสมือนตลาดแรงงานในภูมิภาคเป็นตลาดแรงงานเดียว นอกจากนี้ ออกแบบหลักสูตรการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ และโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image