เปิดวิสัยทัศน์ ‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 16 สางปัญหาเอสเอ็มอี-พาธุรกิจไทยฝ่าวิกฤตต้นทุน

ผลการเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 16 เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ 363 คน มีมติเอกฉันท์เคาะชื่อ เกรียงไกร เธียรนุกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคนใหม่ วาระดำรงตำแหน่งปี 2565-2567

⦁เส้นทางก่อนขึ้นแท่นปธ.ป้ายแดง
เส้นทางของเกรียงไกรก่อนหน้านี้ ได้รับตำแหน่งเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ในสมัยของ สุพันธุ์ มงคลสุธี ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ถือเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจ และก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์ไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส.อ.ท. กรรมการบริหาร ส.อ.ท. กรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ และนายกสมาคมการพิมพ์ไทย เรียกได้ว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในภาคอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี

ด้านธุรกิจส่วนตัว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด และมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจหลายแห่ง ประกอบด้วย นั่งตำแหน่งกรรมการในกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

⦁ลุยปักหมุดเสริมแกร่งอุตสาหกรรม
เกรียงไกรเปิดวิสัยทัศน์ในการทำงานนับจากนี้ว่า จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand) เนื่องจากภาคการผลิตถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออก ซึ่งคาดว่าปี 2565 จะเติบโต 5-10% จากปีที่ผ่านมา ที่การส่งออกเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แต่ยังมีความท้าทาย การแข่งขันในเวทีโลกสูงขึ้น ดังนั้น การขับเคลื่อนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ ONE F.T.I.

Advertisement

ปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิก 1.4 หมื่นบริษัท 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ และ ส.อ.ท. 76 จังหวัด ต้องทำงานกันเป็นทีมเดียวกัน มุ่งขับเคลื่อน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมให้เดินหน้าต่อ และวางเป้าหมายพัฒนา Next Gen Industry ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) และการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวหรือโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกก้าวได้ทันโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีจำนวนมาก หรือกว่า 80% ของสมาชิกใน ส.อ.ท. มีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเศรษฐกิจของไทย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมาตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากสายป่านสั้น และไม่มีหน่วยงานสนับสนุนเท่าที่ควร จากปัญหาดังกล่าว ส.อ.ท.จึงตั้งเป้าหมายดันผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี ผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้เข้าถึงดิจิทัล สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อผลิตสินค้าส่งขายในต่างประเทศได้ในที่สุด โดยหลังจากนี้ ส.อ.ท.จะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ช่วยซัพพอร์ตเรื่องการเงิน โดยได้จัดทำเรื่อง ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์ซิ่ง

⦁เร่งเติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี
ปัจจุบันปัญหาของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง แม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมารัฐบาลจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ ประมาณ 5 แสนล้านบาท ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ในราคาอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ท้ายที่สุดก็ปล่อยเงินไม่ได้เท่าที่ควร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กลัวจะเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และอาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน กำไรของธนาคาร จึงเป็นเหตุผลหลักที่ ส.อ.ท.มาจับมือทำเรื่องดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์ซิ่ง กับ ธปท. คือจะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์) มาขึ้นเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ และเตรียมร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โปรโมตเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

Advertisement

ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องแล้ว เรื่องต่อไปที่ต้องสนับสนุน คือ เรื่องการตลาด ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำ เอสเอ็มอีโปรแอ๊กทีฟ พาผู้ประกอบการไปออกบูธ พร้อมนำสินค้าไปแนะนำในต่างประเทศ ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังดูแลถึงเรื่องการจับคู่ธุรกิจ และท้ายที่สุดจะดึงสมาชิกของ ส.อ.ท.เข้าแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สมาชิกดำเนินการต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น อาทิ เมดอินไทยแลนด์ MIT และ F.I.T.Business รวมถึงจะมีการจัดทำบิ๊กดาต้าของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกในการเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ ของบริษัทคู่ค้าทั้งปัจจุบันและอนาคต เพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน

⦁แนะรัฐคุมพลังงานหวั่นปชช.ช็อก
สำหรับข้อเสนอแนะที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ การดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับราคาที่ประชาชนรับได้ ธุรกิจอยู่ได้ อย่างโมเดลการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นขั้นบันได เริ่มต้น 32 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เพดานไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบประชาชนนั้น เรื่องนี้เอกชนเห็นด้วยแต่ที่เอกชนกังวลคือ อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันลดการจัดเก็บเหลือ 3.20 บาทต่อลิตร และจะสิ้นมาตรการวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ อยากให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังพิจารณาต่ออายุออกไปอีก 3 เดือน เพราะกังวลว่าหากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลดังกล่าว ราคาน้ำมันจะแพงขึ้นอีก ประชาชนอาจช็อก ธุรกิจกระทบหนัก ดังนั้นในช่วงระยะสั้นอยากให้รัฐบาลดูแลดีเซลไม่ให้ขึ้นแรงเกินไป

“ดีเซลที่ขยับขึ้น 5 บาทต่อลิตร ค่าขนส่งอาจปรับขึ้น 15-20% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น เนื่องจากหลายธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของไทยมากขึ้น โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือนพฤษภาคมนี้ ผมเข้าประชุมนัดแรก ก็เตรียมจะเสนอประเด็นเงินเฟ้อ น้ำมันแพง สินค้าปรับราคา การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เข้าสู่ที่ประชุม กกร.เพื่อพิจารณาร่วมกันและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป” ประธาน ส.อ.ท.ทิ้งท้าย

ท่ามกลางวิกฤตต้นทุนธุรกิจพุ่งกระฉูด เอสเอ็มอีกระทบหนัก บทบาท ส.อ.ท.ในยุคของ “เกรียงไกร” จะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image