เศรษฐา ชื่นชมแบรนด์ดัง-ยูนิลีเวอร์ เคลื่อนไหวประเด็นละเอียดอ่อน “ผมสั้นเสมอหู”
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแบรนด์เพาเวอร์กับประเด็นผมสั้นเสมอหูว่า ตนเอ่ยปากมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนในการร่วมรับผิดชอบจัดการประเด็นปัญหาสังคม ถ้าไม่ลงมือแก้ไขโดยตรงก็ควรจะมีบทบาทในการออกมาช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเด็นทางสังคมที่ควรได้รับการสนับสนุน ปรับปรุง หรือแก้ไข ซึ่งว่าตามจริงเห็นน้อยครั้งที่แบรนด์จะกล้าออกมาพูดถึงโดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อน
แต่เช้าวันนี้ปกหน้าและปกหลังของ นสพ.อันดับหนึ่งทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ โดฟ ของค่ายยูนิลีเวอร์ ค่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่อันดับต้นของโลกที่มีงบประมาณโฆษณามหาศาล นับเป็นงานโฆษณาที่มีความโดดเด่นและกระตุกความสนใจคนอ่านหนังสือพิมพ์อย่างตนมาก
เนื้อหาตั้งคำถามถึงเรื่องของการที่สถานศึกษาไทย “บังคับ” ให้เด็กหญิงต้องตัดผมสั้นเสมอหูตามกฎระเบียบที่วางเอาไว้ และ “ท้าทาย” ว่าการบังคับตัดผมสั้นเป็นการจำกัดการแสดงออกของตัวตนเด็ก และปิดกั้นการเติบโตอย่างมั่นใจของเด็กหรือไม่
เห็นแวบแรกนึกว่าเป็น scam ad หรือชิ้นงานโฆษณาไอเดียแรงๆ ที่เอเจนซี่ชอบทำขึ้นมาเฉพาะกิจโดยไม่ได้รับการว่าจ้างให้ทำจากแบรนด์โดยต้องการเอาชิ้นงานส่งชิงรางวัล แต่พอพิจารณาจากการสั่งหุ้มปกหน้า-หลังแล้ว คิดว่าต้องใช้งบเยอะมาก น่าจะเป็นแบรนด์เองที่ซื้อพื้นที่โฆษณา ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมทั้ง แบรนด์ และบริษัทแม่อย่าง ยูนิลีเวอร์ ที่ลุกขึ้นมาพูดในเรื่องที่ส่งเสริมการค้นพบตัวตนของเด็ก การสร้างความมั่นใจและศักยภาพให้กับตนเอง
ตนมิใช่ผู้ออกกฎการตัดผมสั้น จึงไม่รู้เหตุผลแท้จริงของผู้ที่ออกกฎในสมัยก่อน ซึ่งคงมีเหตุผลในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลรักษาสุขอนามัย อากาศประเทศไทยที่ร้อน หรือรวมไปถึงการพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ทุกคนมีอุดมคติเชิงสังคม การเมือง ฯลฯ ในทิศทางเดียวกัน หรืออาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานความเท่าเทียมก็เป็นได้ จะตีความเหตุผลว่าเข้าท่าหรือไม่ก็แล้วแต่มุมมองของคนว่าจะมีอคติกับกฎว่าด้วยเรื่องการตัดผมสั้นอย่างไร
ล่าสุดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 มีการปรับกำหนดข้อปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียนซึ่งดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีอิสระในเรื่องทรงผมได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วมีกฎข้อหนึ่งที่ระบุว่า “ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นมีอำนาจพิจารณาอนุญาต” แปลว่าแม้กฎเองได้ถูกผ่อนปรนแล้วแต่กลายเป็นว่ายกสิทธิให้กับ “ผู้บังคับใช้กฎ” ว่าจะใช้อำนาจของตัวเองในการ “ลิดรอน” สิทธิพื้นฐานของเด็กๆ หรือไม่ และก็เดาได้ไม่ยากว่าเรื่องนี้จะลงเอยยังไง เพราะสุดท้ายมองไปรอบๆ ตัวตนก็ยังเห็นเด็กชายผมเกรียน เด็กหญิงผมสั้นเสมอหูอยู่เหมือนเดิม
แม้บางคนจะมองว่านี่เป็นแคมเปญโฆษณาอันหนึ่ง มองผ่านแล้วผ่านไป แต่ตนว่าโฆษณาชิ้นดังกล่าวสะท้อนภาพที่มีนัยยะ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือคนที่จะเป็นผู้นำได้ ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดประเด็นสังคมที่ควรได้รับการพิจารณา แม้จะมีความละเอียดอ่อนสูงก็ตาม ไม่ต่างจากแบรนด์ดังกล่าวที่จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาตั้งคำถามเรื่องการบังคับตัดผมสั้นในสถานศึกษาไทย ในยุคสมัยที่สังคมรอบข้างเราเปิดกว้าง องค์ความรู้และโลกทัศน์ที่คนรุ่นใหม่ๆ จะหยิบจับมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง ไม่ได้ถูกตีกรอบจำกัดอยู่ในตำราที่สถาบันศึกษาร่างเอาไว้ แต่มาจากการแสวงหาและไขว่คว้าของแต่ละบุคคล การที่จะยังบังคับให้เด็กตัดผมสั้นเป็นการตีกรอบจำกัดทัศนคติของเด็กๆ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพและการค้นพบตัวตนของเด็กหรือไม่
อีกเรื่องที่สะท้อนความคิดตนก็คือ หรือว่า “ผู้นำ” ในสังคมไทยส่วนมากยังชอบบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อตนเพื่อความง่ายในการปกครอง โดยไม่ใช้ความพยายามในการสร้างความเข้าใจและกลไกปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับสังคมในยุคสมัยนี้ เหมือนอย่างที่สถานศึกษาหลายแห่งหรือคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนหลายคนยังคงคิดว่าหากปล่อยให้เด็กๆ มีอิสระในการไว้ผมตามใจจะนำมาซึ่งการถูกท้าทายและความยากในการควบคุม สู้การบังคับใช้กฎเดิมที่ออกมานานแล้วในการจัดการจะดีกว่า
แคมเปญนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าภาคเอกชนหรือแบรนด์ต่างๆ มีแรงและความคิดสร้างสรรค์ที่จะหยิบยกประเด็นสังคมที่น่าสนใจมาพูด ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครกล้าอีกไหมครับ อยากให้มีเยอะๆ เพื่อเราจะได้ช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายๆ เรื่องครับ
ชื่นชม Unilever บ.ระดับโลกที่กล้าพูดประเด็นสังคม การบังคับตัดผมเป็นประเด็นลึกกว่าที่เห็น เพราะสิ่งที่โดนตัดไม่ใช่แค่ผม แต่เป็นการตัดตอนความมั่นใจ ความเป็นตัวตน ความกล้าที่จะแสดงออกของคนรุ่นใหม่
แค่เรื่องผมยังไม่มีอิสระ แล้วต่อไปเขาเติบโตจะกล้าแสดงจุดยืนต่อเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไร pic.twitter.com/l1viDiK69Z
— Srettha Thavisin (@Thavisin) May 3, 2022