ผู้ส่งออกยิ้ม บาทอ่อนสุดรอบ 5 ปี เห็นใจปชช. วอนรัฐคุมน้ำมัน-ค่าไฟ

แฟ้มภาพ

ผู้ส่งออกยิ้ม บาทอ่อนสุดรอบ 5 ปี เห็นใจปชช. วอนรัฐคุมน้ำมัน-ค่าไฟ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประเด็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ที่ 34.46 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น มองว่ามีทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งผลบวก จะช่วยให้ไทยมีโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้มากขึ้น เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาไทยเจอแต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งตอนนั้นทำให้สู้กับตลาดโลกได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าทุกชนิด ยังต้องมีการนำเข้า เพื่อนำสินค้ามาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งการนำหากค่าเงินบาทอ่อน ก็เป็นผลกระทบต่อต้นทุนเช่นกัน

“ในส่วนของภาคการส่งออก ยังถือเป็น 60% ของการเติบโตของตัวเลขผลิตภันณ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงสำคัญ เพราะฉะนั้นการที่เงินบาทอ่อนค่าจึงเป็นผลดีกับไทย และถือเป็นจังหวะที่ดีในการเสนอราคาซื้อขายสินค้าของผู้ส่งออก ถ้าไม่ได้อ่อนค่าเร็ว หรือแรงไปมากกว่านี้ เนื่องจากตอนนี้เรามีเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะภาคการท่องเที่ยว ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน เป็นอย่างน้อย ถึงจะได้เห็นผลจากปัจจัยนี้” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า แม้การที่ค่าบาทอ่อนค่าจะดูเป็นประโยชน์กับไทย แต่ก็ต้องเฝ้าระวังด้วย เนื่องจากยังมีการผันผวนค่อนข้างมาก และต้องติดตามนโยบายทางการเงินของประเทศมหาอำนาจ อาทิ ต้องจับตาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของสหรัฐ เป็นต้น และต้องจับตาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ที่ปัญหานี้ไม่ไดกระทบแค่ค่าเงิน แต่ยังไปกระทบในเรื่องของตลาดเงินตลาดทุนทั้งหมดอีกด้วย

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง นั้น เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาหลักที่ภาคเอกชนกังวล เนื่องจากเรื่องการปรับขึ้นของราคาน้ำมันไม่ได้กระทบต่อภาคธุรกิจ หรือภาคการผลิต เพียงอย่างเดียว ยังกระทบถึงภาคประชาชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการตรึงราคาพลังงานมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันแม้จะไม่ได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรแล้ว แต่ยังมีการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรแทน

Advertisement

“จากปัญหาดังกล่าวจึงอยากให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันต่อไป รวมถึงเรื่องค่าไฟด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้ ไปกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องดูแลโดยตรง แต่ในส่วนของภาคธุรกิจเอง ก็ต้องพยายามดูแลเรื่องต้นทุน เพื่อลดปัญหาการปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้น และการปรับราคาให้สูงขึ้นใช่ว่าจะขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะประชาชนก็เริ่มจะไม่มีกำลังซื้อแล้ว” นายวิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image