ส่อง‘13 หมุดหมาย’ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ส่อง‘13 หมุดหมาย’ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ส่อง‘13 หมุดหมาย’
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

หมายเหต – เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 จะเป็นกลไกสำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ 2566-2570 เพื่อให้ “ประเทศไทยมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ

ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ภายใต้ 4 หลักการและแนวคิด 1.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2.การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว” 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” และไปสู่ 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม พัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรมการเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืนและเสริมสร้างความสามารถของประเทศ รับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

Advertisement

ทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มจากปี 2564 อยู่ที่ 227,000 บาท เป็น 300,000 บาท ความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูงเท่ากับ 0.7209 ความแตกต่างของความเป็นอยู่ ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่า 20%

ยกระดับไทย“เกษตร-ท่องเที่ยว”ยั่งยืน

โดยมีหมุดหมายในการพัฒนา 13 หมุดหมาย ประเมินจากโอกาส ความเสี่ยงของประเทศไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลการพัฒนาในประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมา

Advertisement

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป้าหมายเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการของภาคเกษตรเพื่อคุณภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของภาคเกษตร เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเติบโต 4.5% ต่อปี มีตลาดกลางสินค้าเกษตรภูมิภาคในภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง มีพื้นที่ที่ลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเกิดระบบจัดการน้ำชุมชน 4,000 ตำบล และผู้ประกอบการเกษตรเพิ่มขึ้นปีละ 4,000 ราย ตัวอย่างกลยุทธ์ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนพัฒนาตลาดกลางและตลาดออนไลน์สินค้าเกษตร รวมถึงสินค้ากลุ่มปศุสัตว์และประมง

หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน เปลี่ยนการท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพ ปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวให้พึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ กระจายโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น และต้องมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนทุกมิติ ตัวชี้วัดคือนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายต่อวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี รายได้การท่องเที่ยวของเมืองท่องเที่ยวรองเฉลี่ยทุกเมือง เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ตัวอย่างกลยุทธ์การส่งเสริมพัฒนากิจกรรม สินค้า และบริการการท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มสูง ยกระดับบริการและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานของตลาดสากล ปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบ และขั้นตอนที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการรายย่อย

ปักธงฮับผลิตรถอีวี-การแพทย์-สุขภาพ

หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก เป้าหมายคือการสร้างอุปสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ผู้ประกอบการเดิมปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและมีการลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญภายในประเทศ และสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยภายในปี 2570 ทำให้เพิ่มปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ 380,250 คัน หรือคิดเป็น 17% อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก และสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย

ตัวอย่างกลยุทธ์ ส่งเสริมให้ผู้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กำหนดเป้าหมาย/แผน และดำเนินการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ใน 5 ปี การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ ปรับปรุงและจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและให้ความสำคัญการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน

หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มีเป้าหมายไทยมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสินค้าและบริการสุขภาพ มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนไทยได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพและการเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน เมื่อแผนสิ้นสุดทำให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 1.7% มูลค่าการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงไม่น้อยกว่า 20% หรือ 20,000 ล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมดไม่เกิน 12% ตัวอย่างกลยุทธ์ส่งเสริมบริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพระดับโลก

ประตูการค้า-การลงทุนของภูมิภาค

หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค มีเป้าหมายไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค เป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค เป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อทำให้อันดับความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดีขึ้น มีมูลค่าการลงทุนรวมในประเทศขยายตัวเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6% ต่อปี การลงทุนรวมต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 27% ต่อปี ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศน้อยกว่า 11% ตัวอย่างกลยุทธ์สร้างจุดยืนของไทยภายใต้บริบทโลกใหม่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนเพื่อเป็นประตูการค้าการลงทุนและฐานเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ผลักดันการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0

หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน มีเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น ทำให้ภายในปี 2570 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 30% บุคลากรที่มีทักษะด้าน “ผู้บูรณาการระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จำนวน 4 แสนราย สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ประกอบการที่ย้ายมาจากต่างประเทศ ตัวอย่างกลยุทธ์การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยด้วยดิจิทัล การพัฒนาต่อยอดฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สร้างความเข้มแข็งเอสเอ็มอี

หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ เป้าหมายให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและแข่งขันได้ มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจ สามารถยกระดับและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันใหม่และสามารถเข้าถึงและได้รับการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิผลจากภาครัฐ ภายปี 2570 เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 40% และส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25% ตัวอย่างกลยุทธ์ เช่น พัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล พัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

บูมลงทุนอีอีซี-ผุด 105 เมืองอัจฉริยะ

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายตัวเพิ่มขึ้น ลดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง เพิ่มมูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นตามเป้าหมายในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580

โดยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีมูลค่าการลงทุน 5 แสนล้านบาท พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีมูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านบาท และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทและเมืองอัจฉริยะมีไม่ต่ำกว่า 105 พื้นที่ในปี 2570 ตัวอย่างกลยุทธ์ เช่น สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมกลไกความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคมเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมือง สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล รองรับพื้นที่เศรษฐกิจหลักและเมือง

สร้างความเสมอภาคหลุดพ้นความยากจน

หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม เป้าหมายคือครัวเรือนมีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีโอกาสเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม จนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน และคนไทยทุกช่วงวัยได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จะทำให้อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่ต่ำกว่า 100% และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่า 70% แรงงานในระบบประกันสังคมมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ของกำลังแรงงานรวม และสัดส่วนผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงที่เข้าถึงบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 70% ตัวอย่างกลยุทธ์แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าให้ครัวเรือนหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสเสมอภาคแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ยกระดับความคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย และพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ

หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมายเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยภายในปี 2570 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1% เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 33% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 12% การใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 24% ตัวอย่างกลยุทธ์พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ สร้างรายได้สุทธิให้ชุมชน ท้องถิ่นและเกษตรกรจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมาย ลดความเสียหายและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีตัวชี้วัดคือจำนวนประชาชนที่เสียชีวิต สูญหาย และได้รับผล
กระทบโดยตรงจากภัยธรรมชาติลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในแต่ละภัย ตัวอย่างกลยุทธ์การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สำคัญ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงการศึกษา-บริการที่ทันสมัย

หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงมุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต เป้าหมายเป็นคนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่มีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันของโลก สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข กำลังคนมีสมรรถนะสูง สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตเป้าหมายและสามารถสร้างงานอนาคต ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อสิ้นสุดแผนจะทำให้พัฒนาการเด็กสมวัยเพิ่มขึ้นเป็น 88% จำนวนผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความยากจนหลายมิติลดลง 20% ของจำนวนผู้สูงอายุที่ยากจนต่อปี การจัดอันดับด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจมีคะแนนเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ตัวอย่างกลยุทธ์ คือ คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน เป้าหมายคือการบริการภาครัฐ มีคุณภาพ เข้าถึงได้ กับภาครัฐที่มีขีดสมรรถนะสูง คล่องตัว มีตัวชี้วัดคือความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 90% ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ในองค์ประกอบ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีทุนมนุษย์ และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 ตัวอย่างกลยุทธ์ คือ พัฒนาคุณภาพการให้บริการภาครัฐที่ตอบโจทย์ สะดวก และประหยัด ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการและโครงสร้างของภาครัฐให้ยืดหยุ่น เชื่อมโยง เปิดกว้าง และมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ สร้างระบบบริหารภาครัฐที่ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะที่จำเป็นในการให้บริการภาครัฐดิจิทัล และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มาตรการภาครัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image